รมว.คลัง ปาฐกถาพิเศษ “เศรษฐกิจฐานรากประชารัฐสร้างไทย กลไกพาเศรษฐกิจชาติมั่นคงยั่งยืน” พัฒนาในระดับชุมชนให้เข้มแข็ง และเป็นการทำงานอย่างต่อเนื่อง สร้างโอกาสให้ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ที่ชุมชน คนไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร อยู่ในชุมชนต่างๆ หน้าที่ของส่วนกลางคือสนับสนุนนำเทคโนโลยี-เงินทุนเข้าไป แต่ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เชื่อว่าประเทศไทยจะไปได้ด้วยดี
วันนี้ (10 ธ.ค.) ที่อาคารอิมแพค ฟอรัม เมืองทองธานี ชั้น 2 ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม พบกับการแสดงปาฐกถาพิเศษ จาก ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในหัวข้อ “เศรษฐกิจฐานรากประชารัฐสร้างไทย กลไกพาเศรษฐกิจชาติมั่นคงยั่งยืน”
นายอุตตมกล่าวว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากวันนี้สำคัญจริงๆ สำหรับประเทศไทยที่จะก้าวไปข้างหน้าได้ ต้องมาให้ความสนใจในระดับฐานรากในพวกเรากันเองก่อน เรื่องของการพัฒนาในระดับชุมชนให้เข้มแข็ง และเป็นการทำงานอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับประเทศไทยในภาวะที่วันนี้เราเผชิญความเปลี่ยนแปลงมากมาย เศรษฐกิจข้างนอกกระทบเราอย่างที่เห็น การเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เข้ามา ก็ทำให้หลายๆ อย่างเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ที่เขาเรียกว่า disruption คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และรวดเร็ว มีผลวงกว้าง หลายๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรากำลังเผชิญ แล้วถ้าประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้ ก้าวทันโลกเราต้องกลับมาดูตัวเองให้เยอะๆ ว่าประเทศไทยเรามีของดีหลายๆ อย่าง มีคนเก่งเยอะ ทำอย่างไรถึงจะมารวมกำลัง รวมพลังความคิด แล้วมาทำสิ่งดีๆ ให้กับคนไทย ให้กับประเทศไทย แล้วประเทศไทยก็จะก้าวทันโลกได้
เราไม่ได้มาพูดแต่ส่งออกอย่างเดียว วันนี้เรามาเน้นว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่เราจะไปค้าขายกับข้างนอก มันต้องมาจากฐานรากขึ้นมา แล้วสร้างสรรค์ให้เป็นสิ่งที่มีมูลค่า เป็นที่ต้องการ มันก็จะทำให้ประเทศไทยก้าวทันคนอื่นเขา วันนี้เรามาเริ่มทำงานในลักษณะของภาคีเครือข่าย รัฐ เอกชน ชุมชน ภาคการศึกษา มาทำในเรื่องของการพัฒนา ยกระดับชุมชนของเรา ทำอย่างมีเป้าหมายที่ชัด ทำอย่างมีแผนงานที่ชัดเจนและยึดโยง
เรื่องของเศรษฐกิจระดับชุมชนให้เข้มแข็ง คิดว่าเรากำลังพูดถึงการสร้างโอกาสให้ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ที่ชุมชน คนไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร อยู่ในชุมชนต่างๆ เราสร้างโอกาส และพร้อมๆ กันก็สร้างคน สร้างคนไทยด้วยกันสำหรับรุ่นต่อๆ ไปด้วย วันนี้ดีใจ ประทับใจได้พบกับพี่น้องประชาชนจากชุมชนต่างๆ ประสบความสำเร็จ เป็นต้นแบบในการทำเรื่องของวิสาหกิจชุมชน เรื่องของเกษตรชุมชน พัฒนาสินค้าใหม่ๆ บริการใหม่ๆ ขึ้นมา นี่คือจุดเริ่มต้น ทำอย่างไรให้มันขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง แล้วมีการสื่อสารให้คนไทยทั้งประเทศเห็นว่าเรามีของอย่างนี้ ให้ต่างชาติเห็นว่าประเทศไทยเป็นอย่างนี้ ที่บอกว่าประเทศไทยจะเป็นประตูสู่อาเซียน เพราะเรามีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งจากภายใน
เราก็จะแก้ไขปัญหาที่มันสั่งสมในเชิงโครงสร้างมา เรื่องของความเหลื่อมล้ำ ความยากจน คุณภาพชีวิต เป็นเรื่องซึ่งมันอยู่ในโครงสร้างเรา มันก็เป็นมา ก็ดีขึ้นในระดับหนึ่ง แต่วันนี้เป็นโอกาส ถ้าเรามาทำในเรื่องของฐานราก เราจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปพร้อมๆ กัน และเมื่อปัญหาเหล่านี้ถูกแก้ไข หมายถึงชุมชนจะมีพลังของตัวเองมากขึ้น พึ่งตัวเองได้มากขึ้น โยงกลับมาที่โอกาส โอกาสก็จะเปิดขึ้นมา
ถ้าพูดในเรื่องนี้แล้ว กลไกหลัก 3 ประการ ที่เรียกว่ากลไก 3 สร้าง อันแรกก็คือ โอกาสในการสร้างอาชีพ สร้างองค์ความรู้ อย่างที่ว่า ด้วยเทคโนโลยีที่เราสามารถที่จะนำเข้ามาถ่ายทอด เปิดโอกาสให้ชุมชน ผู้ประกอบการ เกษตรกร เข้าถึงเทคโนโลยีได้สะดวก ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น โอกาสสร้างอาชีพ สร้างความรู้ โอกาสที่สอง คือ โอกาสเข้าถึงการค้าขาย โอกาสเข้าถึงตลาด และสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน
ฉะนั้น เป้าหมายถ้าเรากลไก 3 สร้างนี้ เรามุ่งหวังให้ครอบครัว ตั้งแต่ครอบครัวขึ้นมาถึงชุมชน สามารถที่จะสมสมทุน ทุนครอบครัว ความมั่งคั่งในชุมชนของท่านเองได้ ไม่ใช่หาปีนี้ ปลายปีก็หมด เป็นหนี้อีกด้วย กองทุนหมู่บ้าน เป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านกัน แต่หลายๆ ท่านยังต้องกู้เงินนอกระบบมาใช้กองทุนหมู่บ้าน อย่างนี้ก็สะสมทุนไม่ได้ เรามาช่วยกันให้ท่านสะสมทุนของท่านเองได้ เมื่อท่านสะสมได้ ครอบครัวได้ ชุมชนก็ได้ เมื่อมีทุนสะสม ความมั่นคง ความมั่นใจมันเกิด ก็เป็นโอกาสแล้ว ทีนี้มาคิดได้แล้วว่าโอกาสใหม่ๆ จะทำอะไร จะพัฒนาสินค้าชุมชนอย่างไร ลูกหลานมา กลับมาอยู่บ้าน มาต่อยอดให้พ่อแม่ ทำเกษตรสมัยใหม่ ก็ต้องมีความมั่นคงก่อน ความมั่นคงก็จะมาจากที่เรามาช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจฐานรากในแนวประชารัฐ
ประชารัฐคือภาคีเครือข่าย ประชารัฐคือความร่วมมือของทุกภาคส่วน มาด้วยกัน มาช่วยกัน ด้วยทรัพยากรที่มี ด้วยใจ และด้วยกำลังสมองที่มาผนึกกัน มันก็จะทำให้เกิดเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง ประชารัฐสร้างไทย ประชารัฐคือภาคีเครือข่ายสิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ หลายประเทศก็ทำ เพียงแต่ว่าจะทำจริงจังกันไหม และจะรวมกลุ่มกันได้ไหม วันนี้คิดว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีมาก
เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีแล้ว วันนี้เราก็พยายามใช้เทคโนโลยีในวงกว้างมากขึ้น กระทรวงการคลังได้พัฒนาขึ้นมาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โครงข่ายกรชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า National e-Payment นี่ก็คือโครงข่ายซึ่งผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีรายเล็ก ประชาชนทั่วไป เข้าถึงได้ ไม่มีต้นทุน เป็นสิ่งซึ่งรัฐบาลพัฒนาขึ้นมา กระทรวงการคลังทำขึ้นมา วันนี้เราใช้ประโยชน์ได้อย่างมากเลย บัตรประชารัฐที่เราส่งสวัสดิการลงไป ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของเงิน โดยเฉพาะรูปแบบของเงิน ผ่านโครงข่ายนี้ทั้งนั้น ที่เรียกว่ามี เป๋าตัง เพราะเราสามารถส่งเงินตรงลงไปเข้าเป๋าตังของพี่น้องประชาชนได้เลย ผ่านระบบนี้ นี่คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ ระบบ e-Payment ที่ว่า และเราจะต่อยอดขึ้นไปเพื่อให้บริการได้มากขึ้นวันนี้จะเรียกว่าเป็นวันซึ่งเรา kick off อีกหนหนึ่งในเรื่องของการร่วมกันภาคีเครือข่ายพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เราจะทำอย่างต่อเนื่อง ไปพร้อมๆ กัน เราได้เริ่มแล้วในเรื่องนี้ แล้วก็จะร่วมมือกัน ก็ขอความร่วมมือจากทุกท่านด้วย เริ่มจากวิถีชุมชน หน้าที่ของส่วนกลางคือไปสนับสนุนท่าน นำเทคโนโลยี นำเงินทุนเข้าไป แต่ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ผมเชื่อว่าประเทศไทยก็จะไปได้ด้วยดี ขอบพระคุณครับ
คำต่อคำ : อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “ภาพรวมเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจฐานราก ประชารัฐสร้างไทย กลไกพาเศรษฐกิจชาติมั่นคง ยั่งยืน”
“สวัสดีทุกท่าน ท่านผู้บริหาร ผมใช้คำว่าภาคีเครือข่ายก็แล้วกัน ที่ปรากฏอยู่ตามนี้ เป็นหน่วยงานของภาครัฐ และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือภาคเอกชน ผู้นำชุมชน ทุกๆ องคาพยพ เรามาเป็นภาคีเครือข่าย เรามาร่วมกันในงานสัมมนาวันนี้ และทั้งท่านวิทยากรทุกท่านที่กรุณาสละเวลามาร่วมกันในวันนี้ ให้องค์ความรู้ มาแชร์ประสบการณ์ และท่านสื่อมวลชนทุกท่าน
วันนี้ผมยินดีมากๆ เลย มีโอกาสมาร่วมงานในวันนี้ ทีแรกก็ยังนึกภาพไม่เป็นว่าจะออกอย่างไร งานนี้ เพราะเป็นครั้งแรกที่เรามาร่วมกันจัด ก็คุยกับทางคณะผู้จัดการ รูปแบบจะเป็นอย่างไร รู้แต่ว่าต้องการสื่อในเรื่องของการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพราะวันนี้สำคัญจริงๆ สำหรับประเทศไทยที่จะก้าวไปข้างหน้าได้ ต้องให้ความสำคัญ ต้องมาให้ความสนใจในระดับฐานราก ในพวกเรากันเองก่อน เพราะฉะนั้นงานนี้ก็เป็นความพยายามของคณะผู้จัดงาน ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. เอสเอ็มอีแบงก์ ปตท. และท่านอื่นๆ มีทางออร์แกไนเซอร์ของผู้จัดการมาช่วยกันจัดงานในวันนี้ขึ้น
อย่างที่เรียนว่า เราถือว่าวันนี้เรื่องของการที่มาร่วมกันทำในเรื่องของการพัฒนาในระดับชุมชนให้เข้มแข็ง และเป็นการทำงานอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับประเทศไทยในภาวะที่วันนี้เราเผชิญความเปลี่ยนแปลงมากมาย เศรษฐกิจข้างนอกกระทบเราอย่างที่เห็น การเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เข้ามา ก็ทำให้หลายๆ อย่างเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ที่เขาเรียกว่า disruption คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และรวดเร็ว มีผลวงกว้าง หลายๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรากำลังเผชิญ แล้วถ้าประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้ ก้าวทันโลกเราต้องกลับมาดูตัวเองให้เยอะๆ ว่าประเทศไทยเรามีของดีหลายๆ อย่าง มีคนเก่งเยอะ ทำอย่างไรถึงจะมารวมกำลัง รวมพลังความคิด แล้วมาทำสิ่งดีๆ ให้กับคนไทย ให้กับประเทศไทย แล้วประเทศไทยก็จะก้าวทันโลกได้
เราไม่ได้มาพูดแต่ส่งออกอย่างเดียว ถามว่าส่งออก ส่งอะไรออก มันก็เป็นสินค้าของเราถูกไหม แล้วสินค้าของเรามาจากไหน มันก็ต้องมาจากคนไทย เพียงแต่ว่าวันนี้เรามาเน้นว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ที่เราจะไปค้าขายกับข้างนอก มันต้องมาจากฐานรากขึ้นมา แล้วสร้างสรรค์ให้เป็นสิ่งที่มีมูลค่า เป็นที่ต้องการ มันก็จะทำให้ประเทศไทยก้าวทันคนอื่นเขา โลกข้างนอกเปลี่ยนแปลง มีผลกระทบ เราก็มีภูมิคุ้มกัน อันนี้จำเป็น ภูมิคุ้มกัน ภูมิคุ้มกันที่ว่าต้องเริ่มจากความแข็งแกร่งจากภายในประเทศ จากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เข้มแข็งตั้งแต่ฐานรากขึ้นมา ไม่ใช่แต่ข้างบน ก็นี่ล่ะครับคือที่มาว่า วันนี้เรามาเริ่มทำงานในลักษณะของภาคีเครือข่าย รัฐ เอกชน ชุมชน ภาคการศึกษา มาทำในเรื่องของการพัฒนา ยกระดับชุมชนของเรา ทำอย่างมีเป้าหมายที่ชัด ทำอย่างมีแผนงานที่ชัดเจนและยึดโยง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่มาเริ่มในวันนี้ เราทราบดี เราทำกันในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายหน่วยงาน เพียงแต่วันนี้ อย่างที่ผมเรียนว่า ถ้าเรามาร่วมกัน แล้วทำด้วยกันให้มันเชื่อมโยงในหลายๆ อย่าง มันก็จะทำให้การเดินมีพลัง สำหรับประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าไปสู่โลกของการเปลี่ยนแปลงในวันนี้
ในการที่เรามาทำในเรื่องของเศรษฐกิจระดับชุมชนให้เข้มแข็ง คิดว่าเรากำลังพูดถึงการสร้างโอกาสให้กับประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ที่ชุมชน คนไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร อยู่ในชุมชนต่างๆ นี่ก็เป็นข้อเท็จจริงของประเทศไทย แต่เราก็ปรับเปลี่ยนได้ เราก็ปรับเปลี่ยนตัวเราได้ เราก็มีการพัฒนาในด้านการเกษตร วิสาหกิจชุมชน ท่องเที่ยวของเราได้ เพียงแต่ว่าพยายามทำให้มันยึดโยงกัน สร้างโอกาส และพร้อมๆ กันก็สร้างคน สร้างคนไทยด้วยกัน สำหรับรุ่นต่อๆ ไปด้วย วันนี้ผมก็ดีใจนะ ข้างนอก วันนี้ต้องเรียนว่าประทับใจ ได้พบกับพี่น้องประชาชนจากชุมชนต่างๆ ประสบความสำเร็จ เป็นต้นแบบในการทำเรื่องของวิสาหกิจชุมชน เรื่องของเกษตรชุมชน พัฒนาสินค้าใหม่ๆ บริการใหม่ๆ ขึ้นมา นี่ล่ะครับมันเป็นจุดเริ่มต้นแล้ว ทำอย่างไรให้มันขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง แล้วมีการสื่อสารให้คนไทยทั้งประเทศเห็นว่าเรามีของอย่างนี้นะ ให้ต่างชาติเห็นว่าประเทศไทยเป็นอย่างนี้นะ ที่บอกว่าประเทศไทยจะเป็นประตูสู่อาเซียน สู่เอเชีย น่ะของจริง เพราะเรามีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งจากภายใน เราไม่ได้รอให้เขามา แล้วก็พบว่าประเทศไทยก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษ มีแต่ที่ตั้ง เรามีทั้งที่ตั้งที่เป็นประตู และเรายังมีดีในประเทศ ไม่มีใครมีอย่างนี้ เราต้องมาช่วยกันสร้างตรงนี้ สร้างโอกาส สร้างคน ให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ที่ฐานราก
ในขณะเดียวกัน เราก็จะแก้ไขปัญหาที่มันสั่งสมในเชิงโครงสร้างมา เรื่องของความเหลื่อมล้ำ ความยากจน คุณภาพชีวิต เป็นเรื่องซึ่งมันอยู่ในโครงสร้างเรา มันก็เป็นมา ก็ดีขึ้นในระดับหนึ่ง แต่วันนี้เป็นโอกาส ถ้าเรามาทำในเรื่องของฐานราก เราจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปพร้อมๆ กัน และเมื่อปัญหาเหล่านี้ถูกแก้ไข หมายถึงชุมชนจะมีพลังของตัวเองมากขึ้น พึ่งตัวเองได้มากขึ้น โยงกลับมาที่โอกาส โอกาสก็จะเปิดขึ้นมา
ถ้าพูดในเรื่องนี้แล้ว กลไกหลัก 3 ประการ ที่เรียกว่ากลไก 3 สร้าง อันแรกก็คือ โอกาสในการสร้างอาชีพ สร้างองค์ความรู้ อย่างที่ว่า ด้วยเทคโนโลยีที่เราสามารถที่จะนำเข้ามาถ่ายทอด เปิดโอกาสให้ชุมชน ผู้ประกอบการ เกษตรกร เข้าถึงเทคโนโลยีได้สะดวก ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น โอกาสสร้างอาชีพ สร้างความรู้ โอกาสที่สอง คือ โอกาสเข้าถึงการค้าขาย โอกาสเข้าถึงตลาด อันนี้สำคัญ พวกเราหลายคนก็พูดกันอยู่ว่าเราผลิตของได้เยอะ แต่ประเทศไทยที่เราอาจจะยังทำไม่เต็มที่ทีเดียว ก็คือการเข้าถึงตลาด เราผลิตได้ แต่หลายๆ ครั้งเราไม่แน่ใจว่าตลาดอยู่ทีไหน ผลิตไปแล้วจะมีตลาดไหม เพราะฉะนั้นถ้าเราจะยกระดับส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เกษตรชุมชน ก็ต้องมีตลาดที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นโอกาสตรงนี้ที่เราจะสร้าง คือการสร้างตลาด การช่วยกันสร้างตลาด พื้นที่ที่จะค้าขาย เข้าถึงคนที่ซื้อ มีศักยภาพที่จะซื้อ เรื่องนี้ทำได้เยอะมาก ทั้งการค้าที่เป็นพื้นที่ หาพื้นที่ เดี๋ยวผมจะพูดถึงต่อไป หรือการค้าขายสมัยใหม่ ซึ่งวันนี้เราก็เริ่มกันแล้ว ค้าขายออนไลน์ เราก็ทำควบคู่ไปทั้งสองอย่างให้ชัดเจนว่ามีเป้าว่าตลาดอยู่ทีไหน เป็นระบบ สร้างสุดท้าย ก็คือสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน มีอาชีพ มีที่ค้าขาย/ตลาดแล้ว ทุนเป็นสิ่งจำเป็น วันนี้เรามีแนวทาง มีสถาบันการเงิน ซึ่งวันนี้พวกเราบอกว่า เราไม่ใช่ธนาครเท่านั้น เป็นธนาคารโดยอาชีพ แต่จริงๆ แล้วพันธกิจคือสถาบันเพื่อการพัฒนา แล้วพัฒนาในเชิงของฐานราก ออมสิน ธ.ก.ส. วันนี้เขามุ่งเน้นที่ฐานราก ธอส. เรื่องที่อยู่อาศัยก็มา เอสเอ็มอีแบงก์ เขาก็ต่อยอดขึ้นมา ผู้ประกอบการระดับกลาง จากฐานรากชุมชนขึ้นมา ทำงานยึดโยงกันมา เพราะฉะนั้นวันนี้เรื่องของเข้าถึงแหล่งเงินทุน เรากำลังทำงานอย่างหนัก ให้พี่น้องคนไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ มีวิธีการใหม่ๆ ออกมาหลายๆ แบบ เดี๋ยวท่านคงได้ยินจากทาง ธอส. ธ.ก.ส. เอสเอ็มอีแบงก์ วันนี้เขามีอะไรใหม่ๆ ที่มาช่วยกันในตรงนี้
ฉะนั้นเป้าหมาย ถ้าเรากลไก 3 สร้างนี้ เรามุ่งหวังให้ครอบครัว ตั้งแต่ครอบครัว ขึ้นมาถึงชุมชน สามารถที่จะสมสมทุน ทุนครอบครัว ความมั่งคั่งในชุมชนของท่านเองได้ ไม่ใช่หาปีนี้ ปลายปีก็หมด เป็นหนี้อีกด้วย กองทุนหมู่บ้าน เป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านกัน แต่หลายๆ ท่านยังต้องกู้เงินนอกระบบมาใช้กองทุนหมู่บ้าน อย่างนี้ก็สะสมทุนไม่ได้ เรามาช่วยกันให้ท่านสะสมทุนของท่านเองได้ เมื่อท่านสะสมได้ ครอบครัวได้ ชุมชนก็ได้ เมื่อมีทุนสะสม ความมั่นคง ความมั่นใจมันเกิด ก็เป็นโอกาสแล้ว ทีนี้มาคิดได้แล้วว่าโอกาสใหม่ๆ จะทำอะไร จะพัฒนาสินค้าชุมชนอย่างไร ลูกหลานมา กลับมาอยู่บ้าน มาต่อยอดให้พ่อแม่ ทำเกษตรสมัยใหม่ ก็ต้องมีความมั่นคงก่อน ความมั่นคงก็จะมาจากที่เรามาช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจฐานรากในแนวประชารัฐ
ประชารัฐคือภาคีเครือข่าย ประชารัฐคือความร่วมมือของทุกภาคส่วน มาด้วยกัน มาช่วยกัน ด้วยทรัพยากรที่มี ด้วยใจ และด้วยกำลังสมองที่มาผนึกกัน มันก็จะทำให้เกิดเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง ที่ผมเรียนตอนต้นว่า วันนี้พูดกันว่าเศรษฐกิจไทยชะลอ เพราะขายของข้างนอกฝืด ก็เศรษฐกิจโลกมันเป็นอย่างนี้ เราก็ฝืด แต่ถ้าเราคิดภาพว่า เอาล่ะ สิ่งเหล่านี้เป็นวัฏจักร เดี๋ยวมันก็ดี เดี๋ยวมันก็อาจจะเป็นอีก แต่ที่สำคัญที่สุดคือตัวเราเอง เราสร้างความเข้มแข็งได้ไหม และเรารักษาความเข้มแข็งนั้นได้ไหม หมายถึงเศรษฐกิจภายใน คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเข้มแข็ง เกิดอะไรภายนอกอีก เราก็มีภูมิคุ้มกันของเรา เราก็ค้าขายในประเทศได้ แล้วถ้าเรามีสินค้า ผลิตสินค้าดีๆ ขึ้นมา มันก็เป็นที่ต้องการของตลาดข้างนอกมากขึ้นอีก นี่ก็คือสิ่งซึ่งเราอยากให้เกิดขึ้น นี่พูดถึงเป้าหมาย
คราวนี้มาพูดถึงที่ผมเรียนว่า แผนงาน จะทำอย่างไร ภาคีเครือข่ายจะทำอย่างไร วันนี้เราก็เริ่ม กระทรวงการคลัง วันนี้ผมเรียนว่ากระทรวงการคลังไม่ได้ดูแลแค่วินัยการเงินการคลัง อันนั้นสำคัญ เป็นพันธกิจพื้นฐานที่เราดูแลอยู่แล้ว ประเทศต้องมีความมั่นคงทางด้านการเงินการคลัง ถึงจะทำหลายๆ อย่างได้ ถึงจะดูแลคนไทยได้ ดูแลสวัสดิการได้ แน่นอน แต่วันนี้กระทรวงการคลัง และกระทรวงอื่นๆ เรามาร่วมกันทำงานในเชิงพัฒนามากขึ้น ท่านจะเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าบทบาทที่ผมเรียน ธอส. ออมสิน ธ.ก.ส. เอสเอ็มอีแบงก์ จะมีเรื่องของการพัฒนามากขึ้นอีก ท่านจะเห็นเขาในเรื่องของนักพัฒนามากกว่าจะเป็นนักธนาคาร เขามีทุนแน่นอน แต่ทุนต้องมาพร้อมกับทักษะ องค์ความรู้ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งมันไปไม่ได้ มีทักษะ มีองค์ความรู้ มีความคิดสร้างสรรค์ ขาดทุน ก็ไปได้จำกัด มีทุน ธนาคารปล่อยทุนเข้าไป กองทุนเอาเข้าไป แต่ขาดในเรื่องของทักษะ ในเรื่องของแรงขับเคลื่อน ความสร้างสรรค์ ตอบโจทย์ตลาดได้ ผู้บริโภคได้ ก็ไม่มีประโยชน์เหมือนกัน เพราะฉะนั้น วันนี้เรามาทำร่วมกัน กระทรวงการคลังกำลังผลักดันในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ประชารัฐสร้างไทย ประชารัฐคือภาคีเครือข่าย ธอส.ท่านทำหลายอย่าง เดี๋ยวท่านจะได้ชี้แจง ธ.ก.ส.ก็จะเน้นเรื่องเกษตร เกษตรชุมชนเป็นหลัก ต่อยอดเกษตรขึ้นมา ยกระดับเครือข่ายของเกษตร เราจะมาเน้นกันตรงนี้ว่า ถ้าจะทำเรื่องเกษตรอย่างจริงจัง เราก็อยากเห็นว่า เครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นรูปของเครือข่ายในชุมชนเอง ในเรื่องของสหกรณ์ หรือองค์กรอื่นๆ มีบทบาทในการที่จะช่วยทำในเรื่องของเกษตร เพราะถ้าเครือข่ายเข้มแข็ง เช่น ในเรื่องของการตลาด ถ้าจะให้แต่ละท่าน เกษตรกร ไปหาตลาดเอง มันก็ได้ แต่มันอาจจะช้า ถ้ารวมตัวกันแล้วเครือข่ายทำในเรื่องการตลาดให้ การผลิตมันก็จะสอดรับกับความต้องการของตลาด ประหยัดต้นทุนในการผลิต สิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ หลายประเทศก็ทำ เพียงแต่ว่าจะทำจริงจังกันไหม และจะรวมกลุ่มกันได้ไหม วันนี้ผมคิดว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีมาก
ปตท. ก็ต้องขอบคุณ ปตท.และองค์กรอื่นๆ ภาคเอกชนที่เข้ามาร่วม โครงการไทยเด็ด อันนี้ต้องชื่นชม ทำกับทางสถาบันทั้งหลาย นี่คือภาพของภาคเอกชนก้าวเข้ามาช่วยกัน ทั้งเรื่องของการตลาด เปิดโอกาสใหม่ๆ มายึดโยงกัน ทำให้คนในชุมชนสามารถที่จะเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น เมื่อเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น ในทางกลับกันมันก็เกิดแนวความคิดว่า แล้วจะทำอะไร ตลาดเขาต้องการอะไร คนเขาต้องการอะไร ผู้บริโภค ก็มาช่วยกัน เป็นห่วงโซ่ที่สมบูรณ์มากขึ้น
ออมสิน เขาจะเน้นเรื่องวิสาหกิจชุมชน ผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นหลัก เราก็มาเชื่อมโยงกัน เพราะชุมชนนั้นสามารถมีจุดเข้มแข็ง จุดแข็ง จุดเด่น ได้หลายจุด เกษตร และยังมีวิสาหกิจชุมชนที่มาช่วยกัน และที่สำคัญคือเรื่องของการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเป็นจุดแข็งของประเทศไทย แต่การท่องเที่ยวนั้นคือการท่องเที่ยวในพื้นที่ ถ้าวันนี้ภาคีเครือข่ายมาช่วยกัน ทั้งเรื่องของการสร้างโอกาส สร้างอาชีพ หมายถึงเกษตร หมายถึงวิสาหกิจชุมชน และอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการบริการการท่องเที่ยว โฮมสเตย์ ทั้งหมดเลยที่มาเป็นพวง วันนี้เราอยากมาเสนอว่า เรามาทำงานกับชุมชนในวิถีของชุมชน ไม่ใช่การไปบอกชุมชนว่าต้องทำอย่างนี้ แต่จะฟังจากชุมชน ท่านมีของอยู่แล้ว เราก็มาเสนอได้ว่าแนวความคิดอย่างนี้เป็นอย่างไร เมื่อเขาฟังมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาก็มาปรับแต่ง เขามาคิดค้นของใหม่ที่ตอบโจทย์ชุมชน ถ้าเราเห็นตรงกันว่าวันนี้ถึงเวลาที่จะมาพัฒนาแบบยึดโยง เพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็งทั่วประเทศไทย เพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่
กรมธนารักษ์ ผมยกอีกตัวอย่าง วันนี้กรมธนารักษ์อยู่กับกระทรวงการคลัง เขาก็ออกมา กรมธนารักษ์มีที่ดินเยอะแยะ พื้นที่เยอะแยะทั่วประเทศ วันนี้เขาก็มาพูดคุยในภาคีเครือข่ายว่าพื้นที่ไหนสามารถเอาออกมาทำตลาดให้ได้ ปตท.เข้ามา เขาใช้ปั๊มของเขา กลุ่มเอกชนที่เป็นเจ้าของปั๊ม ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ต้องขอบคุณท่านนายกสมาคมฯ ท่านรวมพลังมาช่วย ธนารักษ์เขาก็เอาที่ออกมา ของราชพัสดุ ที่เหมาะสมที่จะมาเป็นพื้นที่ทำตลาดได้ ก็มากางกันเลยว่ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน อันนี้ทำมาแล้ว ตรงไหนบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เอาพื้นที่นู่นนี่นั่นมา เพราะมันจะขายไม่ออก ใครจะไป มันก็ต้องยึดโยงกับเส้นท่องเที่ยวของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เขา เราก็ทำด้วยกันอย่างนี้ แล้วมันผ่านชุมชนไหน เส้นท่องเที่ยวเขาก็จะดูว่าควรจะไปตรงไหนบ้าง ในเส้นนั้นชุมชนไหนบ้าง และชุมชนนั้นทำอะไร และเรามาช่วยกันพัฒนาอย่างไรให้ชุมชนได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งเรื่องของเกษตร วิสาหกิจชุมชน การผลิต เรื่องของการท่องเที่ยว แล้วที่ยึดโยงทั้งหมดคือการพัฒนาคน ทั้งหมดที่พูด สำคัญที่สุดคือคน คนไทยด้วยกัน เทคโนโลยีมี แต่ถ้าคนไม่พร้อม ไม่ใช่สิ่งซึ่งเหมาะสมกับคนไทย มันก็ไปไม่ได้ นี่คือรูปใหญ่ๆ ของการทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
ผมเสริมอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีแล้ว วันนี้เราก็พยายามใช้เทคโนโลยีในวงกว้างมากขึ้น กระทรวงการคลังได้พัฒนาขึ้นมาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โครงข่ายกรชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า National e-Payment นี่ก็คือโครงข่ายซึ่งผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีรายเล็ก ประชาชนทั่วไป เข้าถึงได้ ไม่มีต้นทุน เป็นสิ่งซึ่งรัฐบาลพัฒนาขึ้นมา กระทรวงการคลังทำขึ้นมา วันนี้เราใช้ประโยชน์ได้อย่างมากเลย บัตรประชารัฐที่เราส่งสวัสดิการลงไป ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของเงิน โดยเฉพาะรูปแบบของเงิน ผ่านโครงข่ายนี้ทั้งนั้น ที่เรียกว่ามี เป๋าตัง เพราะเราสามารถส่งเงินตรงลงไปเข้าเป๋าตังของพี่น้องประชาชนได้เลย ผ่านระบบนี้ นี่คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ ระบบ e-Payment ที่ว่า และเราจะต่อยอดขึ้นไปเพื่อให้บริการได้มากขึ้น
อีกเรื่องหนึ่งคู่กันไปก็คือ ความเข้าใจ การสร้างความเข้าใจในเรื่องของการเงิน ในเรื่องของเทคโนโลยี ค้าขายแบบออนไลน์ ดิจิทัล เขาทำอย่างไร อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเราจะมาทำด้วยกัน กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารฯ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. เราจะร่วมกันทำในเรื่องนี้ และจะเข้าถึงชุมชน คือให้องค์ความรู้ ให้ทักษะ เชิงปฏิบัตินะ ไม่ต้องเอาทฤษฎี เอาเชิงปฏิบัติลงไปเลยว่า ระดับชุมชน อย่างไรท่านก็ต้องโตขึ้นมา ก็ต้องดูแลการบริหารการเงิน วันนี้ผมก็พบกลุ่มออมทรัพย์ เก็บตังค์ เก็บเงินเข้ามาสมทบกันแล้วก็ปล่อยสินเชื่อกันเอง ถ้าท่านโตไปก็คงต้องมีการจัดการระบบบ้าง เราก็จะเอาสิ่งเหล่านี้ องค์ความรู้ ทักษะ เรื่องบัญชีพื้นฐาน เอาเข้าให้ถึง ทักษะความรู้เรื่องการทำธุรกิจแบบใช้เครื่องไม้เครื่องมือดิจิทัลออนไลน์ มันก็มีเทคนิคของมันเหมือนกันนะ จะแต่งหน้าร้านออนไลน์อย่างไร แพกเกจจิ้งทำอย่างไร พวกนี้เราจะสร้างเครือข่ายเพื่อเข้าถึงตั้งแต่ฐานราก พอฐานรากไปได้ เราก็จะยึดโยงขึ้นมา อย่างเมื่อกี้ก็คุยกัน ที่ผมยกตัวอย่าง เรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ควบคู่ไปกับการสร้างอาชีพ สร้างวิสาหกิจขึ้นมา ตั้งแต่คนตัวเล็กเลย ขึ้นมาถึงเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องการการสนับสนุน ถ้าสมมุติเรื่องเงินทุน เบื้องต้น ธอส. ธ.ก.ส. ออมสิน เขาช่วยอยู่ เอสเอ็มอีแบงก์ แต่เราคิดยาวไปเลยว่าวันนี้จะให้ยึดโยงขึ้นมา จากฐานรากมาถึงระดับการเงิน การเข้าถึงทุนในตลาดทุน
ท่านทราบว่าวันนี้เรามีตลาดหลักทรัพย์ฯ เราอาจจะคิดว่าถ้าเราอยู่ชุมชน อยู่โน่น เกี่ยวอะไร บริษัทใหญ่ๆ มีอยู่ 50 บริษัท แล้วเราอยู่ในชุมชน มันคืออะไร วันนี้เขาเข้ามาร่วมมือในภาคีเครือข่าย ปตท.มาแล้ว ยังมีอีกหลายบริษัทนะครับที่เขาได้เริ่มแล้ว เข้ามาทำ แต่วันนี้สิ่งที่เราคิดก็คือ เราจะยึดโยงไปเลยว่าเมื่อผู้ประกอบการใหม่ ชุมชน โต ไม่ใช่ทุกราย แต่หลายๆ รายมีโอกาสโตขึ้นมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะเราจะสร้างตลาดหลักทรัพย์ใหม่สำหรับคนตัวเล็ก สำหรับวิสาหกิจชุมชนที่จะโตขึ้นมาตามลำดับได้ กฎเกณฑ์ก็จะต่างกันไป ท่านเลขาฯ ก.ล.ต. ท่านผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ท่านทำงานด้านนี้อยู่ เพราะฉะนั้นเรากำลังคิดอย่างยึดโยง ไม่ใช่ว่าคนตัวใหญ่ก็อยู่กับคนตัวใหญ่ แล้วคนตัวเล็กก็อยู่กับคนตัวเล็ก ประเทศไทยไปอย่างนั้นไม่ได้แล้ว ไปไม่ได้แล้ว โลกเปลี่ยนไปแล้ว
ประเทศจีน ท่านดูสิ วันนี้จีนเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ ทางเทคโนโลยี แต่เขากำลังดูแลฐานรากของเขาอย่างเข้มข้น เขามีโครงการแบบที่เรากำลังทำ ใช้ข้าราชการ หน่วยงานรัฐ จำไม่ได้แล้ว ธ.ก.ส.ไปดู เป็นล้านคนใช่ไหม ลงพื้นที่เลยนะ ลงระดับครอบครัวเลย ไปทำงานระดับครอบครัวเลยว่าหาโอกาสอย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร ที่จะสร้างวิสาหกิจ สร้างชุมชนของเขาให้เข้มแข็ง เขามีหมดเหมือนกัน เทคโนโลยีนำเลิศ แต่ก็ไม่ละทิ้งกันในประเทศ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เรามีศักยภาพเยอะนะครับ เราเป็นประเทศเล็ก เราไม่ใช่ประเทศใหญ่ แต่เราก็เปี่ยมศักยภาพอยู่ เพราะฉะนั้นในการที่เราจะพัฒนาประเทศ ปรับเปลี่ยนประเทศในครั้งนี้ โอกาสมาแล้ว ก็ต้องทำเน้นที่ฐานรากขึ้นมาให้ได้ ทำโดยภาคีเครือข่าย เชื่อมโยงกันให้มากกว่าเดิม แทนที่จะต่างคนต่างทำ เราจะมาเชื่อมโยงกัน แล้วประเทศไทยก็จะก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืน มีภูมิคุ้มกัน ที่ผมเรียน สำคัญคือมีภูมิคุ้มกัน เพราะวันนี้มันเป็นโลกเปิด โลกที่เชื่อมโยง ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด ก็เหมือนกันร่างกาย ถ้าเราแข็งแรงเสียอย่าง อะไรมาเราก็ยืนได้ แต่ถ้าเราข้างในไม่แข็ง ส่งออกก็ส่งออกแบบที่เขาสั่ง ไม่ใช่ส่งออกสินค้าซึ่งเราอยากส่งออกให้ได้มากๆ เป็นสินค้าซึ่งเราเป็นเจ้าของแบรนด์ให้ได้มากๆ ถ้าอย่างนั้นมันถึงจะเข้มแข็ง วันนี้เริ่มมีให้เห็นแล้ว ข้างนอกเมื่อกี้มาโชว์หลายราย นี่คือความหมายว่าสินค้าเป็นสิ่งซึ่งเราพัฒนา มีคุณค่า มีมูลค่าสูง ไม่ได้รับผลิตอย่างเดียว แล้วเราพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรามีภูมิคุ้มกัน ไปพร้อมกัน
วันนี้จะเรียกว่าเป็นวันซึ่งเรา kick off อีกหนหนึ่งในเรื่องของการร่วมกันภาคีเครือข่ายพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เราจะทำอย่างต่อเนื่อง ไปพร้อมๆ กัน เราได้เริ่มแล้ว ในเรื่องนี้ แล้วก็จะร่วมมือกัน ก็ขอความร่วมมือจากทุกท่านด้วย เริ่มจากวิถีชุมชน หน้าที่ของส่วนกลางคือไปสนับสนุนท่าน นำเทคโนโลยี นำเงินทุนเข้าไป แต่ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ผมเชื่อว่าประเทศไทยก็จะไปได้ด้วยดี ขอบพระคุณครับ”