xs
xsm
sm
md
lg

อุตตมเอื้อทุน"เอสเอ็มอี-สตาร์ทอัป"…บูมศก.ฐานราก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - รมว.คลัง ย้ำ กลไก 3 อย่างพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เน้นสร้างความร่วมมือทำงานเป็นภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง พร้อมเตรียมเปิดช่องให้ “เอสเอ็มอี-สตาร์ทอัป” ระดมทุนในตลาดหุ้นรูปแบบใหม่รองรับการเติบโตในอนาคต ด้าน “ออมสิน” ปีหน้าเตรียมปรับบทบาทเป็นธนาคารเพื่อสังคม “ธอส.” เดินหน้าพันธกิจให้คนไทยมีบ้าน “ธ.ก.ส.” ทุ่ม 5 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้ตามโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ส่วน โออาร์ตั้งเป้าปี 63 ขยาย "มุมไทยเด็ด" เป็น 1 พันแห่ง

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เศรษฐกิจรากหญ้าประชารัฐสร้างไทย กลไกพาเศรษฐกิจชาติมั่นคงยั่งยืน” ภายในงานสัมมนา “เศรษฐกิจรากหญ้าพลิกความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย” ซึ่งจัดโดยเครือผู้จัดการรายวัน360 และ ibusiness ว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากถือว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทยอย่างแท้จริงที่จะต้องร่วมมือกันพัฒนาทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็งและต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจากภายนอกประเทศ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่อย่างรวดเร็ว หากไทยต้องการจะก้าวให้ทันโลกแล้ว เราต้องกลับมาดูตัวเองให้มากว่าไทยมีของดีและมีคนเก่งจำนวนมาก แต่จะทำอย่างไรให้มารวมพลังทำสิ่งดีๆ ให้ประเทศไทย เพื่อให้เรามีภูมิคุ้มกันภายในจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโลกภายนอกโดยทำงานในลักษณะของเครือข่ายภาคี มีเป้าหมาย และแผนงานที่ชัดเจน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังย้ำว่า การทำเศรษฐกิจชุมชนคือการสร้างโอกาสให้คนส่วนใหญ่ในชุมชนต่างๆ แต่ทำอย่างไรที่จะให้มีการขับเคลื่อนเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประตูสู่อาเซียนได้อย่างแท้จริงใน ไม่ใช่มีดีแค่ทำเลที่ตั้งของประเทศ

การพัฒนาดังกล่าวต้องมีกลไก 3 สร้าง คือ 1. สร้างโอกาสในการสร้างอาชีพและองค์ความรู้จากเทคโนโลยีที่สามารถนำเข้ามาถ่ายทอด เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนและผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้ 2.สร้างการเข้าถึงตลาดและแหล่งค้าขาย ที่ทำให้แน่ใจว่าเมื่อผลิตสินค้าออกมาแล้วผู้ประกอบการและชุมชนจะขายสินค้าของตนเองได้ และ 3.สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ในปัจจุบันธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) ได้ยกระดับเพื่อทำหน้าที่ในฐานะสถาบันเพื่อพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจฐานรากแทนการเป็นนายธนาคาร เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น และสร้างความมั่นคงให้แก่ชุมชน

นายอุตตม กล่าวว่า แผนงานของกระทรวงการคลังหลังจากนี้จะไม่พิจารณาเพียงแค่วินัยการคลังอีกต่อไป แต่เราจะให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของประชาชนให้มากขึ้นด้วย

โดย ธ.ก.ส. จะเน้นเกษตรชุมชนต่อยอดขึ้นไปเพื่อยกระดับบริษัทเครือข่ายเกษตรในชุมชน สหกรณ์ และองค์กรอื่นๆ ซึ่งจะมีบทบาทในการช่วยในเรื่องการเกษตร

ขณะที่การทำงานของธนาคารออมสินนั้น จะเน้นพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นหลัก ซึ่งการท่องเที่ยวยังเป็นจุดแข็งของไทย ต้องร่วมมือกันสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงทั้งเกษตรชุมชน การผลิต การท่องเที่ยว และโฮมสเตย์ ตามแนวทางวิถีชุมชน เพื่อทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็งทั่วทั้งประเทศ

นอกจากนี้ นายอุตตม ยังได้กล่าวถึงความพยายามที่จะสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในวงกว้างผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ว่า เป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังได้เคยพัฒนามาแล้วในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ เพื่อทำให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีต้นทุน

การจะสร้างความเข้าใจในเรื่องของการเงิน เทคโนโลยี ดิจิทัล และการค้าออนไลน์แล้ว ทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย จะร่วมมือกันด้วยการนำวิธีปฏิบัติในเรื่องต่างๆ เช่น การทำบัญชีพื้นฐาน การตกแต่งหน้าร้านออนไลน์ เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อเศรษฐกิจรากฐานเดินหน้าไปได้แล้ว เราจะยึดโยงเพื่อสร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยระดับชุมชนหรือคนตัวเล็ก และผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้วย โดยจะเปิดให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 50 บริษัทเข้ามาร่วมมือกันพัฒนา และเมื่อผู้ประกอบการระดับชุมชนเติบโตได้แล้ว พวกเราจะสร้างตลาดหลักทรัพย์สำหรับคนตัวเล็กขึ้นมา ทั้งนี้ คาดว่า จะได้ข้อสรุปเรื่องหลักเกณฑ์ต่างๆ ในต้นปี 63

ส่วนการเปิดให้เข้าระดมทุนโดยการขายหลักทรัพย์จะสามารถดำเนินการได้เมื่อใดนั้นจะขึ้นอยู่กับความพร้อม เนื่องจากเป็นการเปิดกระดานลงทุนใหม่ ซึ่งลักษณะการซื้อขายหลักทรัพย์จะคล้ายกัน แต่เงื่อนไขต้องแตกต่าง เพราะผู้ประกอบการรายเล็กยังมีความแข็งแกร่งไม่มากเท่ารายใหญ่ แต่ก็มีการร่วมทุนในรูปแบบของ Venture Cap ได้ด้วย การสร้างตลาดทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กนั้น ได้เคยเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ เช่น จีน และสิงคโปร์ ซึ่งประสบความสำเร็จ

“ออมสิน” ปรับบทบาทเป็นธ.เพื่อสังคม

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวระหว่างการเสวนาฯ ว่า ธนาคารออมสิน มีแนวทางขับเคลื่อนนโยบายรัฐดังกล่าวโดยใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่ความยั่งยืน ผ่าน Social Banking หรือศูนย์ยกระดับคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานรากของธนาคารออมสิน ด้วยกลไก 3 สร้าง คือ 1.สร้างความรู้/สร้างอาชีพ 2.สร้างตลาด/สร้างรายได้ และ 3.สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนรายย่อยในระดับฐานราก

ในปี 2563 จะปรับรูปแบบสาขาและบทบาทพนักงานเป็นธนาคารเพื่อสังคม มุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน ในชื่อ “ศูนย์ยกระดับคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานรากของธนาคารออมสิน” จำนวน 100 แห่ง ใน 77 จังหวัด โดยจะมีบริการศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน ให้ความรู้ทางการเงิน การบริหารจัดการเงิน การจัดทำบัญชีครัวเรือน บริการศูนย์พัฒนาอาชีพ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยประชาชน ช่างประชารัฐ ศูนย์แก้ไขหนี้นอกระบบ มีจุดให้คำปรึกษา/แก้ไขหนี้นอกระบบโดยเฉพาะ ศูนย์แสดงสินค้าชุมชน เปิดพื้นที่ให้ลูกค้าในชุมชนได้แสดงสินค้า มีศูนย์รักษาพยาบาล และมีศูนย์กลางบริการทางการเงิน : Financial Logistic Center ซึ่งจะมีผลิตภัณฑ์ เช่น สลากออมสิน, MyMo Pay, GSB Pay, บัตรเดบิตคุ้มครองชีวิต/คุ้มครองอุบัติเหตุ GSB Smart Care/GSB Smart Life, ธนาคารประชาชน, สินเชื่อสตรีทฟู้ด, สินเชื่อโฮมสเตย์, สินเชื่อธุรกิจเฟรนไชส์ และสินเชื่อ QR รายวัน นอกจากนี้ ยังมีบริการธนาคารเพื่อผู้สุงอายุ ธนาคารพระพุทธศาสนา และการสนับสนุนการพัฒนา SMEs และ SMEs Start up อย่างครบวงจร

ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมกันผลักดัน โดยกลไก 3 อย่างต่อเนื่อง คือ 1.สร้างความรู้/สร้างอาชีพ 2.สร้างตลาด/สร้างรายได้ และ 3.สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน

ธนาคารฯ เตรียมสินเชื่อประชารัฐสร้างไทยธนาคารประชาชน 5..5..5 วงเงินโครงการ 2,500 ล้านบาท ให้แก่กู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท เพื่อให้พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย และผู้มีรายได้น้อย ได้นำเงินไปเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ โดยผู้กู้สามารถใช้บุคคล หรือ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน มีวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.50% ต่อเดือน (Flat Rate) ระยะผ่อนชำระเกิน 5 ปี (60 งวด) ซึ่งเป็นแคมเปญที่สนองนโยบายรัฐเพื่อให้ลูกค้าฐานรากสามารถกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อพัฒนาองค์กรชุมชน (รายบุคคล) สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการโฮมสเตย์ วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท สามารถใช้บุคคล หลักทรัพย์ หรือ บสย. ค้ำประกันก็ได้ ระยะเวลาผ่อนชำระ 3-7 ปี อัตราดอกเบี้ยมี 2 แบบ หากใช้บุคคลหรือบสย.ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.75% ต่อเดือน (Flat Rate) และใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ย MRR+1.50% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย MRR ของธนาคารฯ ปัจจุบัน = 6.745% ต่อปี)

“ธอส.” เดินหน้าพันธกิจให้คนไทยมีบ้าน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เน้นว่า ธนาคารฯ ได้สนับสนุนนโยบายรัฐบาล โดยผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการบ้านล้านหลัง มาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ และล่าสุด โครงการ"บ้านดีมีดาวน์" ที่จะเริ่มเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.บ้านดีมีดาวน์.com ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 62 ตั้งแต่เวลา 8.00 น. เป็นต้นไป โดยถือเป็นโครงการที่รัฐช่วยลดภาระให้คนอยากมีบ้าน 50,000 บาทต่อราย แก่ประชาชน จำนวน 100,000 รายแรก ที่มีคุณสมบัติและปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการ

“ธ.ก.ส.” ทุ่ม 5 หมื่นล.ปล่อยกู้ธุรกิจชุมชน

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้เตรียมเงินสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี หรือตั้งแต่ 1 ธ.ค. 62 - 30 พ.ย. 65 ทั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสให้ธุรกิจรายเล็กเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

นอกจากนี้ธ.ก.ส. ยังจะเน้นเรื่องการพัฒนาใน 3 ด้านคือ 1. ด้านเกษตรกรรม ด้านท่องเที่ยว และด้านอุตสาหกรรมการแปรรูปและโลจิสติกส์ โดยตั้งเป้าขยายผลให้ได้ 928 ชุมชนในสิ้นปี 62 และในปี 65 จะเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ชุมชน สำหรับจำนวนลูกค้าของ ธ.ก.ส. ในปัจจุบันจะแบ่งออกเป็นลูกค้าที่เป็นเกษตรกรจำนวน 6.17 ล้านครัวเรือน สมาชิกกลุ่มเกษตรกร 396,165 กลุ่ม และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตรอีก 442,887 ราย

PTTOR ตั้งเป้าปี63 ขยาย"มุมไทยเด็ด"

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ กล่าวในการสัมมนาเศรษฐกิจฐานรากพลิกความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย ในหัวข้อหัวใจเศรษฐกิจไทยยุคใหม่ วันนี้(10ธ.ค.)ว่า โออาร์ตั้งงบลงทุนเฉลี่ยปีละราว 1.5 หมื่นล้านบาท โดย 80%เป็นการลงทุนในประเทศ

ปี2563 บริษัทมีแผนขยายมุมไทยเด็ดในสถานีน้ำมัน PTT Stationเพิ่มเป็น 1,000 แห่งจากสิ้นปีนี้เปิดได้ 200 แห่ง ทำให้สามารถจำหน่ายสินค้าชุมชนท้องถิ่นได้เพิ่มมากขึ้น เพราะแต่ละวันมีผู้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการสถานีบริการน้ำมันและคาเฟ่ อเมซอนวันละ 2.4 ล้านคน โดยอนาคตจะนำสินค้าไทยไปจำหน่ายยังต่างประเทศผ่านสถานีบริการน้ำมันและร้านคาเฟ่ อเมซอนในต่างประเทศด้วย

รวมทั้งมีแผนขยายร้านคาเฟ่ อเมซอน จากปัจจุบันที่มี 2,700 สาขา ซึ่งแต่ละเดือนมีผู้มาสมัครขอแฟรนไชส์กว่า 400 ราย รวมทั้งการขยายสถานีบริการน้ำมันเพิ่มจากปัจจุบันอยู่ที่ 1,850 แห่ง ซึ่งช่วยเพิ่มการจ้างงาน และยังเป็นการส่งเสริมเอสเอ็มอี เนื่องจากสถานีบริการPTT Station และร้านคาเฟ่ อเมซอน สัดส่วน 80%เป็นของเอสเอ็มอีหรือดีลเลอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น