ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คิกออฟโปรเจกต์ใหม่ให้ฮือฮากันในโค้งสุดท้ายปลายปีกันเลยทีเดียว สำหรับแนวคิดเรื่อง “การเปิดกระดานเทรดหุ้นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน” ของ “อุตตม สาวนายน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่กล่าวในงานสัมมนา “เศรษฐกิจฐานรากพลิกความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย” จัดโดยสื่อใน “เครือผู้จัดการรายวัน”
ถ้าใช้คำว่า เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ “ตลาดทุนไทย” ก็คงจะไม่เกินเลยไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก และถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับ “วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ไมโครเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ” ในปีหน้า 2563 ที่จะมีแหล่งระดมทุนจาก “ตลาดหลักทรัพย์” ให้ธุรกิจของคนตัวเล็กตัวน้อยได้มีโอกาสเติบโตและเข้มแข็งได้
การเดินหน้าผลักดันให้เกิดตลาดทุนใหม่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศนั้น กระทรวงการคลัง ได้หารือกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสมาคมตลาดทุนแห่งประเทศไทย ในเบื้องต้นแล้วว่าน่าจะเป็นกระดานหุ้นใหม่ เพิ่มเติมจากกระดานหุ้นที่มีอยู่ในขณะนี้ โดยจะมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนกว่ากระดานหุ้นปกติ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือวิสาหกิจชุมชนเข้ามาได้และเป็นแหล่งรวมธุรกิจขนาดเล็กที่เปิดให้กองทุนร่วมทุนต่างๆ ที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุน ส่วนการเปิดเทรดนั้นเป็นขั้นตอนต่อไป
ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลัง และ ต.ล.ท. จะร่วมมือกันในเรื่องการให้ความรู้ทางการเงิน การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากซึ่งรวมถึงการค้าขายออนไลน์และการจัดทำบัญชีด้วย
“กระทรวงการคลังได้มีการหารือกับทางตลาดหลักทรัพย์ และ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนทั้งหมดไปเรียบร้อยแล้ว โดยตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูล และร่างโครงสร้างต้นแบบขึ้นมา ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการเอง และผู้ที่สนใจเข้าไปร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการเหล่านั้น เพื่อให้เกิดผลได้และไม่เกิดผลเสียที่จะตามมาในภายหลัง ซึ่งแพลตฟอร์มกลางนี้มีความน่าสนใจที่สามารถเชื่อมโยงไปยังการระดมทุนในระดับประเทศ และขยายตัวจากผู้ประกอบการรายเดิมออกไปยังผู้ประกอบการรายใหม่ได้ ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็กเชื่อมโยงถึงกันทั้ง Start Up, SMEs, Micro SMEs หรือแม้กระทั่ง Vanture Capital ที่สนใจก็สามารถเข้ามาร่วมได้ ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการพบปะกันทั้งผู้ประกอบการ นักลงทุนที่สนใจทั้งในและต่างประเทศ ขณะนี้ต่างประเทศหลายๆ ประเทศก็ได้มีการเริ่มทำไปบ้างแล้ว เช่น จีน และสิงคโปร์ โดยจะกำหนดเป็นกระดานเทรดขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งกระดานนอกเหนือจาก SET และ mai โดยจะมีลักษณะการเข้าลงทุนที่เป็นรูปแบบเฉพาะภายใต้โครงข่ายที่ได้กำหนดขึ้น เชื่อว่าหลังปีใหม่ก็น่าจะแล้วเสร็จและเห็นโครงการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น”นายอุตตมเปิดเผยแนวคิด
ประเด็นการตั้งตลาดทุนเพื่อผู้ประกอบการรายเล็กนั้น นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขยายความต่อจากขุนคลังเพิ่มเติมในภายหลังว่า ตลท.กำลังศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบหรือแพลตฟอร์ม ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะออกมาลักษณะใด แต่ย้ำว่าจะเป็นการช่วยพัฒนาผู้ประกอบการรายเล็กให้ไปถึงฝั่ง เพื่อระดมเงินทุนผ่านการซื้อขายหลักทรัพย์เช่นเดียวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ใน ตลท.และตลาด mai แต่ยอมรับว่าจะมีเงื่อนไขการลงทุนที่แตกต่างกัน ทั้งทุนจดทะเบียน ลักษณะการเทรดหุ้น และเงื่อนไขการป้องกันความเสี่ยงต่างๆ
เบื้องต้น ตลท.ได้หารือกับ ก.ล.ต. สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ประกอบการตัวเล็ก ไมโครเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ในการให้ความรู้ การเข้าถึง Enterprise System หรือระบบที่ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น แอปพลิเคชั่น การจัดการบัญชี ระบบทรัพยากรบุคคล รวมทั้งการซื้อขายในตลาด แต่การเปิดเทรดยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ขอเวลาออกแบบให้มีความเหมาะสมมากที่สุดก่อน เพราะจะคิดแบบ IPO ของ SET และ mai ไม่ได้ ซึ่งปีหน้าจะเห็นแผนที่ชัดเจนมากขึ้น
สำหรับเรื่อง “เศรษฐกิจฐานราก” นั้น นายอุตตมแจกแจงความสำคัญเอาไว้ว่า ประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้ต้องมาให้ความสนใจในเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาในระดับชุมชนให้เข้มแข็งและต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็วมาก ที่เรียกว่า disruption คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และรวดเร็วมีกระทบในวงกว้าง
ทั้งนี้ รัฐบาลจะดำเนินงานผ่านกลไกการบูรณาการหลัก 3 ด้าน คือ การสร้างโอกาส ด้วยการสร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งภาคเกษตรกรจะทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับองค์กรในระดับชุมชนขณะที่ในส่วนของการยกระดับคุณภาพวิสาหกิจชุมชนที่จะมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เข้าถึงได้ง่าย และต่อยอดการใช้งาน นำมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการแบบใหม่ได้
สำหรับด้านการตลาดจะมีการสร้างพื้นที่ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายให้สามารถเชื่อมโยงถึงกันในตลาดโลกทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยพิจารณาตามกระบวนการผลิตและสร้างอาชีพแล้ว ก็จะต้องสร้างตลาดรองรับผลผลิตนั้นไปพร้อมๆ กันด้วยสิ่งเหล่านี้ที่เรากำลังเผชิญ ถ้าจะก้าวไปข้างหน้าให้ได้ต้องมารวมพลังความคิด พัฒนาจากฐานรากขึ้นมา แล้วสร้างสรรค์ให้เป็นสิ่งที่มีมูลค่าเป็นที่ต้องการ จะทำให้ไทยก้าวทันโลก เรามาเริ่มทำงานในลักษณะของภาคีเครือข่าย รัฐ เอกชน ชุมชน ภาคการศึกษา มาทำในเรื่องของการพัฒนา ยกระดับชุมชนของเรา ทำอย่างมีเป้าหมายที่ชัด ทำอย่างมีแผนงานที่ชัดเจนและยึดโยง
“กลไก 3 สร้างนี้ เรามุ่งหวังให้ครอบครัว ชุมชน สามารถสะสมทุน สร้างความมั่งคั่งในชุมชนได้ ไม่ใช่หาปีนี้ปลายปีหมด แถมเป็นหนี้อีกด้วย อย่างกองทุนหมู่บ้านที่มีสมาชิกไปกู้เงินนอกระบบมาใช้หนี้กองทุนฯ อย่างนี้สะสมทุนไม่ได้ ต้องทำให้มีการสะสมทุน มีความมั่นคง ความมั่นใจ ก็เกิดและเป็นโอกาสที่จะคิดทำอะไรใหม่ๆ จะพัฒนาสินค้าชุมชนอย่างไร ลูกหลานกลับมาอยู่บ้านจะต่อยอดให้พ่อแม่ทำเกษตรสมัยใหม่อย่างไร ซึ่งความมั่นคงก็จะมาจากที่เราช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจฐานรากในแนวประชารัฐ”ขุนคลังอธิบาย
ขณะที่นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ซึ่งเข้าร่วมเป็นพันธมิตรฯในการขับเคลื่อนก็มีมุมมองอย่างน่าสนใจเช่นกันว่า โออาร์ ในฐานะบริษัทเรือธง (Flagship) ของกลุ่ม ปตท.มีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจที่เติบโตร่วมกับสังคมชุมชน และช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ที่มุ่งมั่นพัฒนาสถานีบริการน้ำมันฯ ให้เป็นพื้นที่สร้างประโยชน์ให้กับชุมชน
โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการกว่า 1,500 ราย เป็นผู้ดำเนินธุรกิจ อีกทั้งยังได้สร้างงานสร้างอาชีพกว่า 23,000 คน ปัจจุบันมีสถานีบริการน้ำมัน ฯ จำนวนรวมกว่า 1,850 แห่ง ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ โออาร์ ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจัด “โครงการไทยเด็ด” โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนนำผลิตผลทางการเกษตร อาหาร และสินค้าหัตถกรรมงานฝีมือที่มีชื่อเสียงและเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นมาจำหน่ายภายในสถานีบริการน้ำมันฯ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ สร้างโอกาสในการขยายตลาด และสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้ประกอบการฯ ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 147 ราย และยังคงมีแผนขยายโครงการฯ ไปยังสถานีบริการน้ำมันฯ ทั่วประเทศต่อไป
ขณะเดียวกันโออาร์ ยังได้ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ผ่านธุรกิจร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ที่มีจำนวนรวมกว่า 2,800 สาขา ทั่วประเทศ ซึ่งดำเนินการโดยผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) กว่า 2,400 ราย เป็นธุรกิจที่ช่วยสร้างงานกว่า 16,000 คน นอกจากนี้ ยังได้คัดเลือกสินค้าชุมชนมาวางจำหน่ายภายในร้าน รวมถึงการรับซื้อเมล็ดกาแฟดิบประมาณ 4,000 ตันต่อปี จากเกษตรกรทั่วประเทศ กว่า 2,800 ครัวเรือน อาทิ เมล็ดกาแฟกะลาจากวิสาหกิจชุมชนบ้านปางขอน จังหวัดเชียงราย เป็นต้น โดยมีแผนการขยายผลการวิจัย การพัฒนาการปลูก และการผลิตกาแฟแบบระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับเกษตรกรในภาคเหนือและภาคใต้ รวมถึงการรับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรทั่วประเทศอีกด้วย
…นี่จึงนับเป็นมิติใหม่ที่น่าสนใจในการรวมพลัง “ประชารัฐ” เพื่อขับเคลื่อน “เศรษฐกิจฐานราก” ให้ประสบผลสำเร็จลงไปถึงระดับหมู่บ้านอย่างแท้จริง