xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”เดินหน้าใช้ระบบ“บล็อกเชน” สร้างความเชื่อมั่นสินค้า “ข้าวอินทรีย์”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พาณิชย์”ผลักดันใช้ “บล็อกเชน” กับสินค้า “ข้าวอินทรีย์” หวังสร้างความเชื่อมั่นให้กับข้าวไทย และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ เผยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าข้าวปลูกที่ไหน ใครผลิต ผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานใด จนถึงการส่งออก การรับจ่ายเงิน หรือหากข้าวมีปัญหา ก็จะหาจุดบกพร่องได้ ไม่ต้องตีกลับทั้งล็อต

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.เตรียมเดินหน้าโครงการใช้บล็อกเชน (Blockchain) เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร นำร่องที่ “สินค้าข้าวอินทรีย์” หลังจากได้รับงบประมาณดำเนินการสำหรับปี 2563 แล้ว โดยจะเร่งหารือกับผู้เชี่ยวชาญที่จะทำระบบบล็อกเชน และหารือกับหน่วยงานภาครัฐ ที่ออกใบอนุญาต หรือใบรับรองสินค้าเกษตร ทั้งกรมการค้าต่างประเทศ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) รวมถึงสถาบันการเงิน เพื่อเดินหน้าโครงการ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้เคยหารือกับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ไปแล้ว

“ก่อนหน้านี้ ได้เคยหารือพูดคุยกับเกษตรกรมาบ้างแล้ว มีเกษตรกรที่จะเข้าร่วมอยู่ในมือประมาณ 5,000 คน อยู่ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีความพร้อมที่จะเข้าร่วม ตอนนี้ จึงต้องเร่งพัฒนาระบบบล็อกเชน ดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วม เพื่อเดินหน้า คาดว่าน่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ราวๆ กลางปี 2563 และหากทำสำเร็จ ก็จะขยายผลไปยังสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ ต่อไป”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

สำหรับระบบบล็อกเชนที่จะนำมาใช้ จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้หมด โดยตรวจได้ตั้งแต่การเพาะปลูกว่าปลูกจากที่ไหน เป็นข้าวอินทรีย์จริงหรือไม่ เพราะในที่นาจะมีการติดตั้งกล้อง เพื่อตรวจสอบการเพาะปลูก จากนั้นเมื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตหรือบรรจุ ก็ตรวจสอบได้ว่าผลิตที่ไหน เมื่อขอใบรับรองคุณภาพข้าว หรือใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์จากหน่วยงานรัฐ ก็สามารถตรวจสอบได้ว่าหน่วยงานใดเป็นผู้ตรวจสอบหรือออกใบรับรอง และจากนั้นจะเชื่อมโยงไปจนถึงสถาบันการเงิน ที่จะเข้ามาเป็นตัวกลางการรับจ่ายเงิน หลังจากที่ข้าวถูกขายไป ซึ่งจะรู้ว่าขายให้ใคร ส่งไปประเทศไหน

นอกจากนี้ ผลของการนำระบบบล็อกเชนมาใช้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับข้าวอินทรีย์ของไทย จากการที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ช่วยลดปัญหาการถูกปฏิเสธจากผู้ซื้อ การปลอมปนสินค้า และการถูกสวมสิทธิใบอนุญาต ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองและทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ช่วยสร้างโอกาสในการขยายตลาดส่งออกได้มากขึ้น ส่วนผู้ซื้อ สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของข้าวอินทรีย์ได้ หรือหากมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น มีการตรวจสอบพบว่าไม่ใช่ข้าวอินทรีย์จริง ก็สามารถที่จะปฏิเสธข้าวเป็นล็อตๆ ได้ ไม่ใช่ปฏิเสธทั้งหมด

ปัจจุบัน ตัวเลขปี 2560 ไทยมีพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์เป็นลำดับที่ 7 ของเอเชีย และลำดับที่ 51 ของโลก มีพื้นที่ขนาด 570,409 ไร่ สามารถสร้างมูลค่าจากการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยได้ 1,817 ล้านบาทต่อปี โดยพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ คิดเป็นสัดส่วน 59% ของพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด ในปี 2561 ไทยส่งออกข้าวอินทรีย์มีมูลค่า 750 ล้านบาท แม้ว่าจะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.098% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทย แต่สามารถสร้างมูลค่าได้ 0.41% ของมูลค่าการส่งออกข้าวไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น