xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาฯ รับฟังความเห็นฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูครบ 4 ภาค เตรียมชง กนศ.-ครม.พิจารณา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเดินสายลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูครบทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ และกรุงเทพฯ แล้ว เตรียมนำผลการรับฟังความคิดเห็นและผลการศึกษาเสนอ กนศ. และ ครม.พิจารณา เผยหลังเริ่มเจรจาจะลงพื้นที่ให้ข้อมูลต่อเนื่อง ระบุเบื้องต้นผู้ประกอบการหนุน หวังลดอุปสรรคทางภาษี ภาคประชาสังคมห่วงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เกษตรกรขอให้ช่วยรับมือ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ลงพื้นที่จัดสัมมนารับฟังความเห็นการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ ภาคประชาสังคม เกษตรกร และนักวิชาการในภาคอีสาน ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 ที่ลงพื้นที่ในระดับภูมิภาค จากที่ก่อนหน้านี้ได้ไปภาคตะวันออก ที่จังหวัดชลบุรี ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา และหากรวมที่กรุงเทพฯ ที่จัดไปก่อนที่อื่น ก็จะรวมเป็น 5 ครั้ง โดยกรมฯ จะรวบรวมผลการรับฟังความเห็นทั้งหมด และผลการศึกษาวิเคราะห์เสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกับการฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูต่อไป

“ได้ย้ำว่าการลงพื้นที่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่จะรับฟังความเห็น แต่เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการสร้างความตื่นตัวให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเตรียมการฟื้นเจรจา ซึ่งเมื่อเริ่มเจรจาแล้วจะยังลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลความคืบหน้า และรับฟังความเห็นอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับประเทศไทย” นางอรมนกล่าว

ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่ยังได้มีการนำเสนอผลประโยชน์และผลกระทบในภาพรวมต่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมเปรียบเทียบสาระสำคัญในแต่ละประเด็นในข้อตกลงเอฟทีเอของอียูกับประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม และสิงคโปร์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นภาพ และแสดงความคิดเห็นด้วย

นางอรมนกล่าวว่า จากการจัดสัมมนาครั้งที่ผ่านๆ มาพบว่าผู้ประกอบการทั้งภาคเกษตร และอุตสาหกรรม เช่น เนื้อสัตว์ อาหารสำเร็จรูป ยานยนต์ และชิ้นส่วน เป็นต้น ค่อนข้างมีความพร้อมและสนับสนุนการฟื้นเจรจาเอฟทีเอกับอียู โดยต้องการให้อียูลดอุปสรรคทั้งทางด้านภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีเพื่อขยายตลาด และรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดอียูจากประเทศอื่นที่ได้จัดทำเอฟทีเอกับอียูแล้ว เช่น เวียดนามและสิงคโปร์

ส่วนภาคประชาสังคมและนักวิชาการบางท่านได้เสนอให้การเจรจาคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสังคมที่อาจเกิดขึ้นจากข้อผูกพันด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่อาจเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและการเข้าถึงยา และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ขณะที่กลุ่มเกษตรกรได้เสนอให้ภาครัฐให้ความรู้และฝึกอบรมเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าของอียูที่เข้มงวด เพื่อให้สามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปอียูได้ รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอเพื่อเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ อียูถือเป็นตลาดใหญ่ มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน เป็นคู่ค้าและนักลงทุนสำคัญอันดับ 4 ของไทย โดยในปี 2561 การค้าไทย-อียูมีมูลค่า 47,322 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 9.4% ของการค้าไทยกับโลก ขยายตัว 6.5% จากปี 2560 โดยไทยส่งออกไปอียู 25,041 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.1% และนำเข้าจากอียู 22,281 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.1% โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอียู เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอียู เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น สำหรับการลงทุนไทยในอียูมีแนวโน้มสูงขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2561 คิดเป็น 11,339 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าการลงทุนจากอียูเข้ามาในไทย ซึ่งอยู่ที่ 7,065 ล้านเหรียญสหรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น