xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” นัดถกคณะทำงาน CPTPP พร้อมจัดเวทีรับฟังความเห็นรอบด้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” ถกคณะทำงานเตรียมการเข้าร่วม CPTPP ครั้งที่ 2 ติดตามความคืบหน้าจาก 25 หน่วยงานเดือน ส.ค.นี้ พร้อมจัดสัมมนาใหญ่ระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน และเดินสายลงพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อรับฟังความคิดเห็น ยันประเด็นที่มีข้อกังวลจะพิจารณาด้วยความรอบคอบ ส่วนการเจรจา RCEP ที่กรุงเทพฯ ได้เปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนเข้าร่วมเช่นเดียวกัน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ จะนัดประชุมคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ครั้งที่ 2 ในเดือน ส.ค. 2561 เพื่อพิจารณารายละเอียดการเข้าร่วม CPTPP ในแต่ละเรื่อง หลังจากที่ได้มอบหมายให้ 25 หน่วยงานไปศึกษาและจัดหารือรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ในประเด็นที่ตนเองรับผิดชอบ โดยล่าสุดแต่ละหน่วยงานได้มีการจัดประชุมไปแล้ว คณะทำงานฯ จะมาดูกันว่าแต่ละเรื่องมีความคิดเห็นอย่างไร มีข้อเสนอแนะอะไร เพื่อประกอบการพิจารณาเข้าร่วม CPTPP ของไทย

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ กรมฯ ได้เตรียมจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ ช่วงเดือน ส.ค.2561 และมีแผนที่จะลงพื้นที่ไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2561 เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนในเรื่องผลประโยชน์ ผลกระทบ ข้อกังวล มาตรการเยียวยาที่ต้องการ โดยยืนยันว่าประเด็นที่เป็นข้อกังวลจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก จากนั้นจะรวบรวมเป็นข้อมูลเสนอให้รัฐบาลตัดสินใจต่อไป

ขณะเดียวกัน ได้จัดจ้างสถาบันวิจัย ซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอก ที่มีความเป็นกลางดำเนินการศึกษาผลประโยชน์ ผลกระทบที่ไทยจะได้รับจากการเข้าร่วม CPTPP เพิ่มเติมจากที่เคยศึกษาแล้วเมื่อครั้งยังเป็นความตกลง TPP ซึ่งมีสหรัฐฯ ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งกรมฯ คาดว่า การเข้าร่วมจะเป็นประโยชน์ต่อไทย เพราะประเด็นที่เคยเป็นปัญหาใน TPP เช่น การขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร ก็ถูกดึงออกไปแล้ว และใน CPTPP ที่ภาคประชาสังคมมีความกังวล ในประเด็นการสาธารณสุข การเข้าถึงยาของประชาชน วิถีชีวิต วัฒนธรรมของเกษตรกร ได้รับการยืนยันจากสมาชิก CPTPP แล้วว่าสามารถที่จะดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความมั่นคง และผลประโยชน์สาธารณะได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดไทยกำลังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจา RCEP ที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้เปิดโอกาสให้หัวหน้าคณะเจรจา RCEP จาก 16 ประเทศพบกับผู้แทนภาคเอกชนและภาคประชาสังคมของ RCEP รวมกว่า 40 องค์กร เช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะต่อการเจรจา RCEP


กำลังโหลดความคิดเห็น