xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ’ จีบชาติพันธมิตรทำ ‘ข้อตกลงการค้าเสรี’ ณ ที่ประชุม จี20 แต่ ‘ฝรั่งเศส’ คัดค้านเสียงแข็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>บรรยากาศในห้องประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม จี20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ขณะกรรมการผู้จัดการไอเอฟ คริสทีน ลาการ์ด ขึ้นพูด เมื่อวันเสาร์ (21 ก.ค.) </i>
รอยเตอร์/เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - สหรัฐฯเมื่อวันเสาร์ (21 ก.ค.) หาทางเกี้ยวพายุโรปและญี่ปุ่นให้มาทำข้อตกลงการค้าเสรีกัน เพื่อให้ฐานะตัวเองเข้มแข็งยิ่งขึ้นในสงครามขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้กับจีนที่กำลังบานปลายขยายตัว ทว่า การโหมโรงของอเมริกาเผชิญการต่อต้านแรงจากฝรั่งเศส ณ การประชุมระดับรัฐมนตรีคลัง และผู้ว่าการแบงก์ชาติของกลุ่ม 20 ชาติเศรษฐกิจรายใหญ่ของโลก (จี20) วันแรกที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งถูกครอบงำด้วยเรื่องความตึงเครียดทางการค้า

รัฐมนตรีคลัง สตีเวน มนูชิน ของสหรัฐฯ บอกกับพวกผู้สื่อข่าวในที่ประชุมของเหล่าผู้นำด้านการเงินการคลังกลุ่ม จี20 เมื่อวันเสาร์ (21) ว่า เขากำลังนำเอาข้อเสนอของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งได้พูดเอาไว้กับบรรดาพันธมิตร จี7 (กลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมสำคัญของโลก) กลับมาเสนอใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ เนื้อหาสำคัญของข้อเสนอนี้ ก็คือ ให้ทุกๆ ชาติพันธมิตรยกเลิกกำแพงกีดกั้นการค้าระหว่างกันให้หมดสิ้น

“ถ้ายุโรปเชื่อในการค้าเสรี เราก็พร้อมจะลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีด้วย” มนูชิน บอก พร้อมเสริมว่าข้อตกลงดังกล่าวจำเป็นต้องยกเลิกทั้งกำแพงทางภาษีศุลกากร, กำแพงที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร และการอุดหนุนทั้งหลายทั้งปวง “มันจะต้องมีประเด็น 3 เรื่องนี้ทั้งหมด”

ทรัมป์นั้นได้ทำให้พวกพันธมิตรยุโรปของอเมริกาบังเกิดความโกรธกริ้ว จากการขึ้นภาษีศุลกากรในอัตรา 25% ต่อเหล็กกล้านำเข้า และในอัตรา 10% ต่ออลูมิเนียมนำเข้า เป็นเหตุให้สหภาพยุโรปตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีศุลกากรแก่สินค้าเข้าอเมริกัน อย่างเช่น รถมอเตอร์ไซค์ฮาร์เลย์-เดวิดสัน, สุราเบอร์เบิ้น และอื่นๆ

ทรัมป์ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยๆ เรื่องที่ยุโรปเก็บภาษีศุลกากรจากรถยนต์นำเข้าในอัตรา 10% ยังกำลังสั่งให้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯศึกษาเพื่อขึ้นภาษี 25% กับรถยนต์นำเข้า ซึ่งจะกระทบหนักต่อทั้งยุโรปและญี่ปุ่น
<i>รัฐมนตรีคลังและเศรษฐกิจฝรั่งเศส บรูโน เลอแมร์ (ขวา) จับมือกับรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สตีเวน มนูชิน ระหว่างการพบปะหารือทวิภาคี ข้างเคียงการประชุมของกลุ่มจี20 เมื่อวันเสาร์ (21 ก.ค.) </i>
ทางด้านรัฐมนตรีคลัง บรูโน เลอแมร์ ของฝรั่งเศส แถลงว่า สหภาพยุโรปจะไม่พิจารณาเรื่องการเริ่มเปิดการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ จนกว่าทรัมป์จะต้องถอนการขึ้นภาษีเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมไปก่อน รวมทั้งเลิกการข่มขู่ขึ้นภาษีรถยนต์

“เราปฏิเสธไม่ยอมเจรจาขณะที่มีปืนจ่ออยู่ที่ศีรษะของเรา” เลอแมร์บอกกับพวกผู้สื่อข่าว ณ การหารือข้างเคียงการประชุม จี20

“มันต้องเป็นสหรัฐฯที่จะต้องก้าวเดินก่อนเป็นก้าวแรกเพื่อลดระดับความบานปลาย”

เขากล่าวว่า เขาคาดหวังให้ทรัมป์ “เปลี่ยนแปลงทัศนคติ” ไม่เช่นนั้นแล้ว “ก็จะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการตอบโต้”

รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศสยังได้ให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าวเอเอฟพี โดยกล่าวว่า นโยบายการค้าของสหรัฐฯในปัจจุบันซึ่งกำลังบังคับขึ้นภาษีศุลกากรตามอำเภอใจนั้น เป็นนโยบายที่อิงอยู่กับ “กฎแห่งป่า” เขาบอกว่า “การค้าโลกไม่สามารถอิงตนเองอยู่บนกฎแห่งป่าได้ แต่การขึ้นภาษีศุลกากรตามอำเภอใจคือกฎแห่งป่า”

“กฎที่ว่าผู้ปรับตัวได้มากที่สุดเท่านั้นคือผู้อยู่รอด - นี่ไม่สามารถจะเป็นอนาคตของความสัมพันธ์ทางการค้าในโลกได้ กฎแห่งป่ามีแต่จะทำให้เรากลายเป็นผู้แพ้ มันจะทำให้การเติบโตขยายตัวอ่อนแอลง คุกคามพวกประเทศที่อ่อนเปราะที่สุด และสร้างผลต่อเนื่องทางการเมืองที่เป็นความหายนะติดตามมา”

เขาบอกด้วยว่า เวลานี้สงครามการค้าได้กลายเป็นความเป็นจริงไปแล้ว

สำหรับเรื่องที่มนูชินยื่นข้อเสนอใหม่ต่อกลุ่ม จี7 ซึ่งสมาชิกมีทั้งสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ขณะเดียวกันสหรัฐฯยังมีความพยายามครั้งใหม่เพื่อปัดฝุ่นการเจรจาที่ชะงักไปกับเม็กซิโกและแคนาดา ในเรื่องการปรับปรุงข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) ให้ทันสมัยด้วยนั้น เหล่านี้บังเกิดขึ้นในขณะที่สหรัฐฯกับจีนกำลังประจันหน้ากันในข้อพิพาทการค้าที่กำลังบานปลายโดยไม่มีท่าทีว่าจะเปิดเจรจาทำความตกลงกัน

มนูชินไม่ได้มีนัดหมายหารืออย่างเป็นทางการกับเจ้าหน้าที่จีนใดๆ ในการประชุม จี20คราวนี้ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากคู่เจรจาปกติของเขา คือ รองนายกรัฐมนตรี หลิว เหอ ของจีน ไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุมคราวนี้ด้วย
<i>ภาพหมู่รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่ม จี20 ซึ่งเข้าร่วมการประชุมที่กรุงบัวโนไอเรส วันเสาร์ (21 ก.ค.) </i>
คริสทีน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการของกองทุนการค้าระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เสนอรายงานต่อที่ประชุม จี7 ที่เมืองหลวงอาร์เจนตินาคราวนี้ ซึ่งเตือนว่า กระแสการขึ้นภาษีศุลกากรในช่วงหลังๆ นี้ จะเป็นภัยอย่างสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และในฉากทัศน์แบบเลวร้ายที่สุดนั้น อาจทำให้การเติบโตขยายตัวของทั่วโลกลดต่ำไปลงได้ 0.5% หรือคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 430,000 ล้านดอลลาร์

การนำเสนอของลาการ์ด มีขึ้นไม่นานหลังจากมนูชินกล่าวว่า การตอบโต้ทางการค้าที่เกิดขึ้นมาเวลานี้ ยังไม่มีผลกระทบทาง “มหภาค” ใดๆ ต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

มนูชิน บอกว่า ขณะที่มีผลกระทบทาง “จุลภาค” อยู่บ้าง จากการตอบโต้ของชาติอื่นซึ่งมุ่งเล่นงานพวกถั่วเหลือง, กุ้งล็อบสเตอร์, และเหล้าเบอร์เบิ้น ซึ่งผลิตในสหรัฐฯ แต่เขาไม่เชื่อว่าภาษศุลกากรเหล่านี้จะทำให้สหรัฐฯไม่สามารถบรรลุการเติบโตในอัตรา 3% ในปีนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น