กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจับมือสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนาเปิดผลศึกษา “ผลกระทบจากการจัดทำเอฟทีเอไทย-อียู” ชี้หากทั้งสองฝ่ายลดภาษีนำเข้าทุกรายการจะช่วยดันจีดีพีไทยเพิ่ม 1.63% ส่งออกเพิ่ม 3.43% นำเข้าเพิ่ม 3.42% ลงทุนเพิ่ม 2.74% และยังเพิ่มแต้มต่อสามารถแข่งกับประเทศที่ทำเอฟทีเอกับอียูแล้วได้ ด้านสินค้าพบไทยได้ประโยชน์ส่งออกเพิ่มขึ้นเพียบ แต่ต้องเตรียมรับมือสินค้านำเข้า รวมถึงประเด็นด้านสาธารณสุข เตรียมสรุปผลเสนอ กนศ. และ ครม.ตัดสินใจต่อไป
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมมือกับสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) จัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “ผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป” โดยพบว่าการทำเอฟทีเอไทย-อียู หากมีการลดภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการของทั้งสองฝ่ายจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยเพิ่มขึ้น 1.63% อัตราเงินเฟ้อลดลง 0.41% การส่งออกเพิ่มขึ้น 3.43% การนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.42% การลงทุนเพิ่มขึ้น 2.74% ตลอดจนตัวเลขด้านเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น สวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้น 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ การบริโภคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1.32% และจำนวนคนจนลดลง 3.9 แสนคน เป็นต้น
สำหรับสาขาที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์ในการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น ส่วนสาขาที่คาดว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากการนำเข้า และต้องเตรียมการปรับตัว เช่น น้ำตาล ผัก ผลไม้ และเมล็ดถั่ว เป็นต้น และยังมีประเด็นด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยารักษาโรค และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นข้อกังวลหลักของภาคประชาสังคมที่จะต้องเตรียมการรับมือด้วย
ทั้งนี้ ผลการศึกษายังพบว่าการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ซึ่งหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2557 จะช่วยเพิ่มโอกาสขยายตลาดของสินค้าที่ไทยมีศักยภาพท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนจากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าของคู่ค้าไทยหลายประเทศ และยังสามารถช่วยเพิ่มแต้มต่อทางการแข่งขันของไทยที่หายไป เมื่อเทียบกับประเทศที่มีเอฟทีเอกับอียูแล้ว เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ และบราซิล เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเอฟทีเอที่อียูทำกับประเทศต่างๆ มีมาตรฐานสูง ทั้งในส่วนการเปิดตลาดสินค้า บริการและการลงทุน ตลอดจนประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ เป็นต้น หากไทยจะฟื้นการเจรจาจะต้องพิจารณาเตรียมความพร้อมและการช่วยเหลือเยียวยาอย่างรอบคอบ
“การศึกษาได้ดำเนินมาจนถึงช่วงสุดท้าย คือการจัดสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาและรับฟังความเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนา ก่อนที่ไอเอฟดีจะนำเสนอผลการศึกษาฉบับเต็มต่อกรมฯ ต่อไป และหลังจากนั้นกรมฯ จะนำผลการศึกษาเผยแพร่ทางเว็บไซต์กรมฯ www.dtn.go.th รวมทั้งนำผลการศึกษาผนวกกับผลการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มเกษตรกร และภาคประชาสังคมที่กรมฯ จัดขึ้นในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั้ง 4 ภูมิภาคของไทย ในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาตัดสินใจเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูต่อไป” นางอรมนกล่าว
สำหรับสหภาพยุโรป (อียู) เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพและอำนาจซื้อสูง ด้วยประชากรกว่า 512 ล้านคน เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย รองจากอาเซียน จีน และญี่ปุ่น โดยในปี 2561 ไทยและสหภาพยุโรปมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 47,341.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 9.4% ของไทยที่ค้ากับทั่วโลก โดยไทยส่งออก 25,068.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.27% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และไทยนำเข้า 22,273.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.0% สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม