กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมนัดชี้แจงผลการเจรจา “อาร์เซ็ป” ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ 14 พ.ย.นี้ พร้อมเดินสาย 4 ภาค บอกผลประโยชน์และแนวทางการปรับตัว เริ่ม ม.ค.-ก.พ. 63 ส่วนการลงนามข้อตกลง สมาชิก 15 ประเทศ กำลังนัดประชุมขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย ตั้งเป้าลงนามภายในปี 63 พร้อมทำงานร่วมกับอินเดียเพื่อหาข้อยุติในประเด็นคงค้าง ย้ำอาร์เซ็ปยังเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุด แม้ล่าสุดยังไม่มีอินเดีย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงแนวทางการทำงานของไทยหลังจากที่ผู้นำประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) 16 ประเทศ ร่วมกันออกแถลงการณ์ ประกาศความสำเร็จการเจรจาอาร์เซ็ป เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2562 ที่กรุงเทพฯ ว่า กรมฯ จะเดินหน้าประชาสัมพันธ์ความตกลงอาร์เซ็ปและสร้างรู้ ความเข้าใจกับทุกภาคส่วน เริ่มจากกำหนดจัดประชุมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 14 พ.ย. 2562 ที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ข้อมูลสำคัญที่ได้จากการเจรจา รวมทั้งมติของที่ประชุมผู้นำอาร์เซ็ป และหารือการเตรียมการของฝ่ายไทย มีนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ที่ปรึกษาการพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยระดับเจ้าหน้าที่เป็นประธาน จากนั้นจะจัดสัมมนาใหญ่เรื่องอาร์เซ็ปในวันที่ 16 ธ.ค. 2562 ที่กรุงเทพฯ และลงพื้นที่จัดสัมมนาในต่างจังหวัดทั้ง 4 ภูมิภาค (เชียงใหม่ สงขลา อุดรธานี และชลบุรี) ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2563 เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลความตกลงให้ประชาชนได้รับทราบ รวมถึงการเตรียมตัวใช้ประโยชน์จากความตกลงทุกมิติและการปรับตัวจากผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
สำหรับผลประโยชน์จากอาร์เซ็ปที่จะเกิดขึ้นกับไทยที่ได้มีการศึกษามา พบว่าจะช่วยสร้างแต้มต่อ ลดความซ้ำซ้อนเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ประสานกฎระเบียบและมาตรการทางการค้า ส่งผลให้มีการยอมรับกฎเกณฑ์ด้านมาตรฐานต่างๆ ระหว่างกัน และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคและในโลก ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิกในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนตร์และบันเทิง ประเภทเทคนิคตัดต่อภาพและเสียง การผลิต แอนิเมชัน และยังจะช่วยสร้างโอกาสการส่งออกของไทยในตลาดใหม่ๆ ที่การทำเอฟทีเอระหว่างไทย อาเซียน และสมาชิกอาร์เซ็ปในช่วงที่ผ่านมายังเปิดตลาดไม่มากพอ โดยสินค้าที่คาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์จากการที่สมาชิกอาร์เซ็ปเปิดตลาดเพิ่มเติมให้ไทยจากเอฟทีเอที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางล้อ เส้นใย สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และกระดาษ เป็นต้น
นางอรมนกล่าวว่า การลงนามข้อตกลงอาร์เซ็ป ปัจจุบันสมาชิก 15 ประเทศ ที่ปิดการเจรจาอาร์เซ็ปทั้ง 20 บาท และการเจรจาเปิดตลาดในส่วนที่สำคัญ กำลังจะนัดประชุมระดับเจ้าหน้าที่ เพื่อขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายของความตกลงทั้ง 20 บท โดยคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 หรือช้าสุดไม่น่าจะเกิดไตรมาสที่ 2 หรือภายในเดือน มิ.ย. 2563 เพื่อให้ประเทศสมาชิกมีเวลาเพียงพอในการดำเนินกระบวนการภายในของตนเองให้เสร็จสิ้น และให้ทั้ง 15 ประเทศ สามารถลงนามร่วมกันได้ในปี 2563 ตามที่ผู้นำตั้งเป้าไว้ ซึ่งในส่วนของไทย ก่อนที่จะลงนาม จะต้องดำเนินการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน
ส่วนกรณีของอินเดีย ที่ยังมีประเด็นคงค้างที่จะต้องเจรจาต่อ สมาชิกอาร์เซ็ปจะทำงานร่วมกัน เพื่อหาข้อยุติในประเด็นคงค้างของอินเดียต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดว่าจะเริ่มเจรจาหรือจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร ซึ่งสมาชิกจะต้องมีการหารือกันต่อไป แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะการบังคับใช้ความตกลงอาร์เซ็ป ไม่จำเป็นต้องพร้อมกันทุกประเทศ เหมือนกับความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่เจรจากัน 11 ประเทศ ตอนนี้บังคับใช้แล้วแค่ 7 ประเทศ อาร์เซ็ปก็เหมือนกัน การบังคับใช้กำหนดไว้ว่าเมื่อมีสมาชิกอาเซียนให้สัตยาบัน 6 ประเทศ และคู่เจรจา 4 ประเทศ ถึงจะมีผลบังคับใช้ ต่อไปหากเจรจากับอินเดียจบ ก็เข้ามา รวมทั้งยังเปิดทางรับสมาชิกใหม่ๆ ในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แม้อินเดียจะยังไม่เข้าร่วมอาร์เซ็ป แต่ความตกลงอาร์เซ็ปที่มีสมาชิก 15 ประเทศ ยังคงเป็นความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ฉบับใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากมีประชากรรวมกันกว่า 2,200 ล้านคน หรือประมาณ 30% ของประชากรโลก มีมูลค่า GDP กว่า 24.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 28.96% ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 27.22% ของมูลค่าการค้าโลก
โดยในปี 2561 ไทยกับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป 15 ประเทศ มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 2.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 57.31% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกกว่า 1.41 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 55.79% ของการส่งออกรวมของไทย และมีมูลค่านำเข้าจากประเทศสมาชิกกว่า 1.45 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 58.74% ของการส่งออกของไทย