xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำอาร์เซ็ปประกาศความสำเร็จ ปิดดีลการเจรจา คาดลงนามได้ปี 63

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้นำอาร์เซ็ปประกาศความสำเร็จสรุปผลการเจรจาทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดในส่วนที่สำคัญได้ทุกประเด็น หลังเจรจามายาวนานกว่า 7 ปี ก่อนมอบคณะเจรจาไปขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายเพื่อลงนามในปี 63 ส่วนอินเดียที่ยังมีประเด็นคงค้างให้สมาชิกไปหาข้อยุติร่วมกัน เผยหากอาร์เซ็ปบังคับใช้จะเกิดเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้นำอาเซียนและคู่เจรจา 6 ประเทศ วันที่ 4 พ.ย. 2562 ว่า การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในฐานะเจ้าภาพและประธานการประชุมอาร์เซ็ป เพราะตลอดทั้งปีที่ผ่านมาไทยได้ทำงานร่วมกับสมาชิกอาร์เซ็ปอีก 15 ประเทศอย่างหนักและผลักดันให้การเจรจาคืบหน้า จนในวันนี้ผู้นำสามารถร่วมประกาศความสำเร็จสรุปผลการเจรจาอาร์เซ็ปทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดได้ตามเป้าที่ผู้นำอาร์เซ็ปตั้งไว้

"การประชุมผู้นำอาร์เซ็ปครั้งนี้ผู้นำได้ร่วมออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่า "สมาชิกอาร์เซ็ป 15 ประเทศสามารถปิดการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ปทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดในส่วนที่สำคัญทุกประเด็นได้แล้ว และมอบให้คณะเจรจาไปเริ่มขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย เพื่อลงนามความตกลงอาร์เซ็ปในปี 2563 โดยในส่วนของอินเดียยังมีประเด็นคงค้างที่จะต้องเจรจาต่อ สมาชิกอาร์เซ็ปจะทำงานร่วมกันเพื่อหาข้อยุติในประเด็นคงค้างของอินเดียต่อไป"

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนและประธานการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปในปีนี้ ไทยได้แสดงบทบาทนำอย่างต่อเนื่องในการเป็นตัวกลางประสานระหว่างประเทศ จากเมื่อต้นปีสำเร็จแค่ 7 บทจาก 20 บท เมื่อไทยรับไม้ต่อเป็นประธานอาเซียนได้เร่งขับเคลื่อนการเจรจาให้จบในปีนี้สำเร็จได้เพิ่มอีก 13 บท ทำให้จบทั้ง 20 บทได้ในปีที่ไทยเป็นประธาน ซึ่งได้รับเสียงตอบรับและการสนับสนุนจากสมาชิกอื่นมาตลอดทั้งปี และหากความตกลงอาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้จะถือเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับล่าสุดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบันเท่าที่มีมา อีกทั้งจะมีความทันสมัยที่ครอบคลุมประเด็นทางการค้ายุคใหม่ทั้งเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการแข่งขัน เป็นต้น

นอกจากนี้ ความตกลงอาร์เซ็ปจะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้สามารถเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าในระดับภูมิภาคได้ ช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ขณะเดียวกันก็จะรองรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สำหรับความตกลงอาร์เซ็ป ประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ คือ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้งไทย และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก มีมูลค่า GDP กว่า 27.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 32.3% ของ GDP โลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 29.3% ของมูลค่าการค้าโลก โดยเริ่มเจรจากันมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2556 จนถึงปัจจุบันใช้เวลาไปแล้วกว่า 7 ปี ซึ่งการเจรจาได้บรรลุผลสำเร็จในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้

ในปี 2561 ไทยกับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปมีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ประมาณ 2.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 59.8 ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย โดยความตกลงอาร์เซ็ปจะช่วยสร้างโอกาสการส่งออกของไทยในตลาดใหม่ๆ ที่การทำเอฟทีเอระหว่างไทย อาเซียน และสมาชิกอาร์เซ็ปในช่วงที่ผ่านมายังเปิดตลาดไม่มากพอ โดยสินค้าที่สมาชิกอาร์เซ็ปเปิดตลาดเพิ่มเติมให้ไทย เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางล้อ เส้นใย สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และกระดาษ เป็นต้น โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปกว่า 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 58.8 ของการส่งออกของไทยไปโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น