"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
ประเทศไทย ในฐานะประธานอาเซียน เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน รอบที่ 2 ในปีนี้ ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน
การประชุมรอบที่แล้ว วันที่ 20-23 มิถุนายน สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ คุยกันเอง รอบนี้ใหญ่กว่า เพราะไม่ได้คุยกันเองเท่านั้น แต่ยังเชิญประเทศคู่เจรจาอีก 10 ประเทศ มาร่วมประชุมด้วย
สิบประเทศคู่เจรจานี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย, แคนาดา, จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, นิวซีแลนด์, รัสเซีย, สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป และอีกหนึ่งองค์กร คือ องค์การสหประชาชาติ
การประชุมครั้งนี้ จึงเป็นเหตุการณ์สำคัญของโลก ที่ได้รับการจับตามองว่า จะมีข้อสรุปอะไรเป็นชิ้นเป็นอันหรือไม่
ไฮไลต์ของอาเซียน +10 ซัมมิท อยู่ที่วันสุดท้าย ก่อนพิธีปิดการประชุม และส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนปี 2020 ให้กับเวียดนาม คือ การประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป (RCEP-Regional Comprehensive Economic Partnership ครั้งที่ 3 ซึ่งคาดกันว่า จะสามารถสรุปและลงนามความตกลงการค้าเสรีได้ ในการประชุมครั้งนี้ จากกำหนดเดิมที่จะต้องมีการลงนามกันตั้งแต่ปี 2015 แต่ก็ล่าช้าเรื่อยมา
เขตการค้าเสรี RCEP ประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และหุ้นส่วนทางการค้าอีก 6 ชาติคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมประชากรกว่า 47.4% ของประชากรโลก มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่า 32.2% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก ครอบคลุมมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศถึง 29.1% และ 32.5% ตามลำดับ
การเจรจาการค้าในกรอบ RCEP แบ่งการเจรจาออกเป็น 2 กรอบ โดยกรอบแรกจะเป็นการเจรจาในประเด็นการเปิดและการเข้าสู่ตลาด การเจรจาสามารถหาข้อสรุปได้แล้วเกือบ 100% ของรายการสินค้าและบริการ
อีกกรอบหนึ่งจะเป็นการเจรจาในการร่างข้อตกลงซึ่งมีทั้งหมด 20 ข้อ เช่น การเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อโดยรัฐ กฎถิ่นกำเนิดสินค้า ฯลฯ สถานะล่าสุด ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนจะเริ่มขึ้นคือ ประเทศสมาชิกสามารถบรรลุข้อสรุปในข้อตกลงได้แล้ว 17 ข้อ เหลือต้องเจรจาอีก 3 ข้อ ได้แก่ แหล่งกำเนิดสินค้า บริการ และการลงทุน
อาร์เซ็ปพัฒนามาจากแนวคิด ASEAN+3 /ASEAN+6 เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของอาเซียนที่ต้องการรักษาบทบาทในการเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนการรวมกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้ยในภูมิภาค โดยเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ปี 2012 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลี ใต้ และนิวซีแลนด์ ได้ออกปฏิญญาร่วมว่าด้วยการประกาศการเริ่มเจรจาทำความตกลง RCEP เพื่อประกาศให้มีการเริ่มเจรจาอย่างเป็นทางการในปี 2013 และให้บรรลุข้อตกลงในปี 2015
อาร์เซ็ปล่าช้าไป 3 ปี เพราะแต่ละเรื่องมีรายละเอียดมาก ในระหว่างนี้ทิศทางการค้า การลงทุนโลกก็เปลี่ยนไปแบบจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากระบบการค้าแบบพหุภาค เปิดกว้าง ไร้พรมแดน ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กลายเป็นระบบปกป้อง ปิดกั้นทางเศรษฐกิจ การเจรจาแบบทวิภาคี ด้วยนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นจากการถอนตัวจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือทีพีพี ทั้งๆ ที่สหรัฐฯ ในยุคของบารัก โอบามา เป็นผู้ริเริ่มและผลักดันให้เกิดขึ้น ตามมาด้วยการรือข้อตกลงเขตเสรีการค้าทวีปอเมริกาเหนือ และการประกาศสงครามการค้ากับจีน โดยใช้กำแพงภาษีเป็นเครื่องมือ
อาร์เซ็ปได้รับความสำคัญขึ้นมาทันที ในฐานะเครื่องมืออันทรงพลังในการส่งเสริมระบบการค้าของโลกบนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ภายใต้การกำกับขององค์การการค้าโลก ถ้าอาร์เซ็ปเป็นจริง จะเป็นครั้งแรกที่รวมเอาประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจสำคัญอย่างจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้มาอยู่ด้วยกัน
อาร์เซ็ปเป็นความหวังที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกออกจากวังวนสงครามการค้าที่สหรัฐฯ เป็นผู้จุดชนวน
การประชุมสุดยอดอาเซียน + 10 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ จึงเป็นเวทีที่ประกาศข้อตกลงทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญมากที่สุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา