xs
xsm
sm
md
lg

เอเชียเซ็ง “ทรัมป์” เมินซัมมิตอาเซียน บ่งชี้ไม่จริงจังนโยบายอินโด-แปซิฟิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 18 ก.ย. 2019 ขณะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กับ โรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติคนใหม่ของเขา พูดกับพวกสื่อข่าว ก่อนขึ้นเครื่องบิน “แอร์ฟอร์ซวัน” ที่เมืองลอสแองเจลิส สหรัฐฯ  ทั้งนี้ทำเนียบขาวเพิ่งประกาศว่า โอไบรอัน จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของสหรัฐฯมาร่วมการประชุมซัมมิตอาเซียนในกรุงเทพฯ
เอเจนซีส์ - ทำเนียบขาวส่งที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติคนใหม่ร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกแทน 'ทรัมป์' ถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับต่ำสุดนับจากที่อเมริกาได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2011 ท่ามกลางความกังวลของหลายชาติเอเชียต่อการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน ความเคลื่อนไหวนี้ยังทำให้เกิดข้อครหาเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของวอชิงตันที่มีต่อยุทธศาสตร์ “อินโด-แปซิฟิก” รวมถึงความน่าเชื่อถือของอเมริกาในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้

ขณะที่คาดกันว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่ประเทศชิลีกลางเดือนหน้า แต่สำหรับการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) และการประชุมสุดยอดอเมริกา-อาเซียน ซึ่งเป็นรายการส่วนหนึ่งของการประชุมซัมมิตอาเซียน ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงเทพฯในวันที่ 3-4 เดือนหน้านั้น ทำเนียบขาวแถลงเมื่อวันอังคาร (29 ต.ค.) ว่า โรเบิร์ต โอไบรอัน ที่เข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติแทนจอห์น โบลตัน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา จะเป็นผู้นำคณะผู้แทนของสหรัฐฯ ซึ่งมี วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์ รวมอยู่ด้วย

ทั้งนี้ รอสส์ยังมีกำหนดนำคณะผู้แทนของสหรัฐฯ ร่วมประชุมอินโด-แปซิฟิก บิสเนส ฟอรัม ที่เป็นการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้บริหารธุรกิจที่จัดขึ้นข้างเคียงเวทีอีเอเอส

นอกจากนั้น ผู้แทนคนอื่นๆ ของสหรัฐฯ ที่จะร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ ยังรวมถึงเดวิด สติลเวลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

สื่อตะวันตก เป็นต้นว่า สำนักข่าวรอยเตอร์ตั้งข้อสังเกตว่า แม้รายงานยุทธศาสตร์กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ประจำปี 2019 นี้ ประกาศว่า “อินโด-แปซิฟิก” เป็นภูมิภาคเดียวที่สำคัญที่สุดสำหรับอนาคตของอเมริกา แต่คณะบริหารของทรัมป์กลับลดระดับเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมการประชุมอีเอเอสและสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นโอไบรอันยังถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับต่ำสุดที่นำคณะผู้แทนของวอชิงตันร่วมประชุมอีเอเอสนับจากที่อเมริกาได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมอย่างเต็มตัวครั้งแรกในปี 2011

แม้ทรัมป์ร่วมซัมมิตอเมริกา-อาเซียนที่มะนิลาในปี 2017 แต่เขาก็เดินทางกลับก่อนและจึงไม่เคยเข้าประชุมอีเอเอส ส่วนปี 2018 ที่ผ่านมาทรัมป์ก็ส่งรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ไปประชุมแทนที่สิงคโปร์

ต่างจากอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่เข้าร่วมซัมมิตอเมริกา-อาเซียน และอีเอเอสทุกครั้งนับจากปี 2011 ยกเว้นปี 2013 ปีเดียวที่โอบามาต้องยกเลิกการเดินทางเนื่องจากปัญหาชัตดาวน์หน่วยงานรัฐบาลของอเมริกา และส่งจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศในขณะนั้นไปแทน

นักการทูตเอเชียวิจารณ์ว่า การที่ไม่มีผู้แทนระดับสูงสุดของอเมริกาในซัมมิตอีเอเอสเป็นเรื่องน่าผิดหวังสำหรับพันธมิตรในเอเชียที่กังวลกับการขยายอิทธิพลอย่างรวดเร็วของจีน

พวกนักการทูตและนักวิเคราะห์ยังมองว่า การที่ทรัมป์ไม่มาร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ จะทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของวอชิงตันที่มีต่อภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เขายกเลิกไม่เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ในปี 2017 หลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีไม่นาน

แมทธิว กู๊ดแมน ที่ปรึกษาอาวุโสด้านเศรษฐศาสตร์เอเชียของศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (ซีเอสไอเอส) หน่วยงานด้านคลังความคิดซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ชี้ว่า การที่ทรัมป์ไม่เดินทางมาประชุมที่กรุงเทพฯ ถือเป็นปัญหาที่แท้จริง

ขณะที่ เอมี ซีไรต์ อดีตเจ้าหน้าที่กลาโหมอาวุโสในสมัยโอบามา และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของซีเอสไอเอส ขานรับว่า ซัมมิตอีเอเอสเป็นเวทีการหารือทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับเอเชีย-แปซิฟิก โดยมีผู้นำจากจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ 10 ชาติอาเซียนเข้าร่วม

ซีไรต์สำทับว่า การที่อเมริกาไม่ส่งเจ้าหน้าที่อาวุโสร่วมประชุมกับผู้นำ 17 ชาติเอเชีย-แปซิฟิกจะทำให้เกิดข้อสงสัยว่า คณะบริหารของทรัมป์จริงจังกับยุทธศาสตร์ “อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” มากน้อยเพียงใด รวมถึงความน่าเชื่อถือของอเมริกาในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น