“พาณิชย์” ขอสหรัฐฯ ไม่ขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจากไทย ยกเหตุผลชี้แจง ไทยมีส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ น้อย และมีมาตรการป้องกันการแอบอ้างสิทธิการทุ่มตลาด และพร้อมร่วมมือสหรัฐฯ แก้ปัญหาเหล็กส่วนเกิน เผยยังได้ขอให้เร่งตรวจสอบด้านสุขอนามัยส้มโอ เพื่อเปิดทางส่งออก และขอให้ไทยได้สิทธิออกเครื่องหมายรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ของสหรัฐฯ ระบุยังได้รับข่าวดีสหรัฐฯ ไม่ใส่ชื่อไทยเป็นประเทศที่ต้องถูกทบทวน GSP และไม่เป็นประเทศบิดเบือนค่าเงิน
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงฯ ได้นำคณะผู้แทนการค้าจากหน่วยงานภาครัฐ เดินทางไปเข้าร่วมกการประชุมกรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (TIFA) ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐฯ โดยไทยได้ขอให้สหรัฐฯ ยกเว้นการใช้มาตรการ 232 และไม่ขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียมจากไทย โดยได้ให้เหตุผลว่าไทยกับสหรัฐฯ เป็นประเทศพันธมิตรที่ดีต่อกันมายาวนาน และไทยมีการส่งออกและครองส่วนแบ่งตลาดเหล็กและอลูมิเนียมในสหรัฐฯ น้อย มีมาตรการกำกับดูแลไม่ให้เหล็กจากประเทศอื่นมาอ้างสิทธิว่าเป็นเหล็กจากไทย ตลอดจนมีการใช้มาตรการทุ่มตลาดกับเหล็กนำเข้าราคาต่ำทะลักเข้าไทย และพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการแก้ไขปัญหาเหล็กส่วนเกินในตลาดโลก
โดยในการหารือครั้งนี้ ไทยยังได้ขอให้สหรัฐฯ เร่งกระบวนการตรวจสอบด้านสุขอนามัยกับสินค้าส้มโอของไทย เพื่อให้สามารถส่งออกส้มโอไปสหรัฐฯ ได้ ซึ่งสหรัฐฯ แจ้งว่ากระบวนการต่างๆ ใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว และหากไม่มีผู้คัดค้าน ไทยน่าจะสามารถส่งออกส้มโอไปสหรัฐฯ ได้ภายในปีนี้ และขอให้กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ รับรองให้หน่วยงานไทย เช่น กรมการข้าว และกรมวิชาการเกษตรของไทย เป็นหน่วยงานที่สามารถตรวจและออกเครื่องหมายรับรองเกษตรอินทรีย์ของสหรัฐฯ กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยไปตลาดโลก โดยเฉพาะในตลาดที่ให้การยอมรับตราเครื่องหมายรับรองเกษตรอินทรีย์ของสหรัฐฯ
นางนันทวัลย์กล่าวว่า สหรัฐฯ ยังได้แจ้งให้ทราบว่า เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศรายชื่อประเทศที่ต้องถูกทบทวนการต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) เพราะไม่ได้เปิดตลาดและคุ้มครองสิทธิแรงงาน และไทยไม่ได้อยู่ในรายชื่อดังกล่าว เพราะไทยได้มีแผนปฏิบัติการด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองแรงงาน ที่มีความคืบหน้าไปมาก ทั้งในส่วนของการปราบปรามและการบังคับใช้กฎหมาย และการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง
สำหรับประเทศที่อยู่ในรายการทบทวนและอาจเสี่ยงถูกตัด GSP จากสหรัฐฯ มี 3 ประเทศ คือ อินเดีย กรณีเปิดตลาดโคนมและอุปกรณ์ทางการแพทย์ อินโดนีเซีย กรณีเปิดตลาดสินค้า บริการและการลงทุน และคาซัคสถาน กรณีการคุ้มครองแรงงานและสิทธิแรงงาน
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังได้ประกาศรายชื่อประเทศที่มีการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนเงินที่อาจส่งผลกระทบกับสหรัฐฯ ซึ่งจะต้องเฝ้าระวัง และมีการหารืออย่างใกล้ชิด มี 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งไทยไม่ได้อยู่ในรายชื่อดังกล่าวเช่นกัน
ส่วนเรื่องที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยยอมรับค่าความปลอดภัยของสารเร่งเนื้อแดง (แรคโตพามีน) ในเนื้อหมูและเครื่องใน ตามมาตรฐาน Codex นั้น ไทยได้ชี้แจงให้เห็นว่าจะต้องมีการศึกษาและมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหารือร่วมกันต่อไปในเรื่องการศึกษาและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับระดับความปลอดภัยของการใช้สารแรคโตพามีน การประเมินความเสี่ยงต่อผู้บริโภค และการจัดการด้านความปลอดภัยผู้บริโภค เป็นต้น