xs
xsm
sm
md
lg

“กกร.” ปรับเป้าจีดีพีปีนี้ขยายตัวเพิ่มเป็น 4-4.5% ไม่หวั่นสงครามการค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กกร.ปรับเป้าจีดีพีปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 4-4.5% หลังประเมินการส่งออกจะโตเพิ่มขึ้นจาก 3.5-6% เป็นโต 5-8% แต่ยังคงต้องเกาะติดสงครามการค้าสหรัฐฯ กับนานาประเทศใกล้ชิดแม้ภาพรวมกระทบไม่มาก พร้อมชงเสนอเลื่อนบังคับมาตรฐานบัญชีใหม่ไปเป็นปี 2565



นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.ว่า ที่ประชุม กกร.ปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกและอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2561 ใหม่ โดยประเมินว่าการส่งออกอาจขยายตัว 5.0-8.0% จากเดิมเมื่อเดือนมกราคม 2561 ประเมินว่าจะโต 3.5-6.0% ซึ่งจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.0-4.5% จากเดิมประเมินว่าจะโต 3.8-4.5% ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ปรับลดลงเหลือ 0.7-1.2% จากเดิมประเมินว่าจะอยู่ในระดับ 1.1-1.6% ส่วนเงินบาทสิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

“ยอมรับว่ายังคงมีประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิดที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับนานาประเทศ รวมทั้งการเปิดเผยรายงานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ โดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เดือนเมษายนนี้” นายเจนกล่าว

สำหรับประเด็นข้อพิพาททางการค้าจากการที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน รวมทั้งความเป็นไปได้ที่ไทยอาจจะติดอยู่ในรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามองในรายงานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่เปิดเผยโดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ นั้น กกร.เห็นว่าอาจจะยังมีผลกระทบที่จำกัดต่อการส่งออกของไทยปี 2561 จึงมีการปรับเพิ่มประมาณการส่งออก ส่วนเรื่องเหล็กที่ถูกสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้านั้นมีความกังวลไม่มาก เชื่อว่ารัฐบาลไทยจะสามารถเจรจาได้และไทยต้องหาตลาดเพื่อนบ้านทดแทน ส่วนอะลูมิเนียมประเทศไทยยังต้องนำเข้าจึงไม่ได้รับผลกระทบ

ส่วนมาตรฐานการบัญชี IFRS 9 ที่จะมีการบังคับใช้ปี 2562 นั้น กกร.เห็นว่าเป็นมาตรฐานที่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจในวงกว้าง จึงเสนอให้คณะกรรมการกำกับวิชาชีพการบัญชี (กกบ.) ทำการพิจารณาผลกระทบให้รอบด้านและพิจารณารายละเอียดมากขึ้น และเสนอให้เลื่อนการบังคับใช้เป็นปี 2565

สำหรับการหารือร่วมกับปลัดกระทรวงแรงงานที่จะรวบรวมฐานข้อมูลความต้องการแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นั้น ทางกระทรวงแรงงานต้องการขอความร่วมมือกับภาคเอกชนโดยเฉพาะ ส.อ.ท.และสภาหอฯ ในการร่วมกันพิจารณาข้อมูลให้ถูกต้อง เบื้องต้นจากการรวบรวมล่าสุด 60% ของการสำรวจมีความต้องการแรงงานในอีอีซีรวมประมาณ 2.8 หมื่นคน โดยจะมีการร่วมมือสำรวจข้อมูลต่อไปอย่างใกล้ชิด


กำลังโหลดความคิดเห็น