xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่พ่นพิษฉุดลงทุนรัฐชะลอ “กกร.” วิตกฉุด ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กกร.” กังวลการลงทุนของภาครัฐในไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2561 หดตัว 6% จากปีก่อน แย้มเบิกจ่ายงบได้แค่ 3% จากที่ควรจะเป็น 30% ทำให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจล่าช้า คาดส่วนหนึ่งจาก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ หวังรัฐจะเร่งแก้ไขเพื่อป้องกันผลกระบต่อเศรษฐกิจ

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท., สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย ว่า กกร.ยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ไว้ตามเดิมที่ 3.8-4.5% และการส่งออก คงไว้ที่ 3.5-6% แต่มีความกังวลการลงทุนของภาครัฐในช่วงไตรมาส4 ปี 2560 ซึ่งเป็นไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 หดตัว 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งสะท้อนเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจล่าช้า โดยหากยังคงเป็นเช่นนี้อาจกระทบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้

“การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ล่าช้าส่วนหนึ่งเพราะฐานของปีที่แล้วสูงและอีกส่วนเพราะ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ ขณะเดียวกัน มีเอกชนบางรายระบุว่าเม็ดเงินลงทุนของภาครัฐน่าจะมีการเบิกจ่ายได้แล้วถึง 30% แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการเบิกจ่ายจริงแค่ 3% จึงทำให้เงินเข้าสู่ระบบล่าช้าหรือไม่เรื่องนี้เอกชนจึงต้องการให้รัฐเร่งรัดการเบิกจ่าย” นายเจนกล่าว

สำหรับการลงทุนของภาคเอกชนนั้นขณะนี้มีสัญญาณที่ดีขึ้นโดยเฉพาะหลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านความเห็นชอบ พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทำให้เอกชนเริ่มมีการมองหาที่ดินในการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นแล้วและคาดว่าการลงทุนเอกชนจะชัดเจนมากขึ้นในไตรมาส 2 ปีนี้

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยแม้จะมีสัญญาณที่ดีในเรื่องของการส่งออก การท่องเที่ยว และการบริโภคที่เริ่มฟื้นตัวแต่ก็ยังไม่แข็งแรงนักจำเป็นต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย และติดตามผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการค้าของไทย จากการดำเนินมาตรการปกป้องการค้าของสหรัฐ และประเทศต่างๆ ที่อาจดำเนินมาตรการตอบโต้กลับ เช่น สหภาพยุโรป แคนาดา จีน ฯลฯ ซึ่งอาจกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกได้

ทั้งนี้ กกร.ยังได้หารือถึงประเด็นที่จะให้ตัวแทนจากสภาหอการค้าไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงแนวทางการวิเคราะห์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) ของไทยให้ลงรายละเอียดมากขึ้นเพื่อที่จะสะท้อนให้เห็นถึงขีดความสามารถในการใช้ทรัพยากรของไทยที่จะสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

“จริงๆ แล้ว GNP นั้นเมื่อนำรายได้สุทธิจากต่างประเทศมาหักออกก็จะได้มูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP แต่เรามักไม่ค่อยพูดถึงและไม่ชัดเจนเพราะรายได้จากต่างประเทศมีทั้งคนไทยไปทำงานแล้วส่งรายได้กลับ การไปตั้งบริษัทที่ต่างประเทศแล้วส่งรายได้กลับแต่บางรายก็ไม่ได้ส่งกลับมา” นายเจนกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น