“เทวินทร์” ลุ้นรัฐใช้เวทีระดับประเทศไกล่เกลี่ยยุติคดี อินโดนีเซียฟ้องเรียกค่าเสียหายน้ำมันรั่วไหลในแหล่งมอนทารา ชี้ บรรยากาศการพบกันของผู้นำ 2 ประเทศ เมื่อปลาย มี.ค. เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่นำไปสู่การหวนกลับไปลงทุนในอินโดนีเซียอีกครั้งของกลุ่ม ปตท. ส่วนประชุมบอร์ด ปตท. 9 เม.ย. นี้ ชงวาระโอนทรัพย์สินให้ PTTOR ส่วนคัดเลือกพันธมิตรโรงแรมราคาประหยัดเลื่อนไปเดือนหน้า
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศ ติดตามความคืบหน้าในคดีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในแหล่งมอนทารา เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐและโอกาสทางการลงทุนของประเทศไทยในอินโดนีเซียนั้น
ขณะนี้ตนยังไม่ทรายรายละเอียดที่ชัดเจนว่า ภาครัฐจะดำเนินการอย่างไร หลังจากรัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการทางทะเล สาธารณรัฐอินโดนีเซีย พร้อมด้วย ผู้ว่าการธนาคารอินโดนีเซียเดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรีของไทย เมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยดี ซึ่งเห็นว่าเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลที่เกิดขึ้น ก็ควรจะหาสาเหตุและหาข้อยุติที่เป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนกระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดีทางศาลนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลอินโดนีเซียจะตัดสินใจ ไม่แน่ใจว่าจะมีการนำกลับเข้าสู่กระบวนศาลอีกเมื่อไร ซึ่งกลุ่ม ปตท. คงไม่ได้ไปก้าวก่าย และแม้ว่าจะเป็นกระบวนการทางศาล แต่ก็ยังมีกระบวนการที่สามารถหาข้อยุติไกล่เกลี่ยร่วมกันได้ อย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพยายามพูดคุยเพื่อหาข้อยุติโดยใช้เหตุและข้อมูลต่างๆ
หลังจากนี้ กลุ่ม ปตท. คงต้องชี้แจงและนำข้อมูลไปให้ ที่ผ่านมา ปตท.สผ. ก็มีการจัดสรรงบเพื่อใช้ในกิจกรรมด้านสังคม ช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ห่างไกลจากเมืองหลวงของอินโดนีเซียอยู่แล้วก็ยังทำต่อเนื่อง เพราะ ปตท.สผ. ยังมีการลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมที่นั่นอยู่แล้ว
“ปตท. และ สผ. เป็นรัฐวิสาหกิจ ถ้ามีการฟ้องร้องคดีความ โดยสถานะแล้วสำนักกฎหมายของรัฐ ก็คือ สำนักงานอัยการสูงสุด ก็จะเป็นผู้เข้ามาดูแลคดีความเป็นแนวปฏิบัติของรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว แต่กรณีนายกฯออกมาพูดถึง ถ้าต่อไป รมว.กระทรวงพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศ ออกมาใช้เวทีระหว่างประเทศช่วยดำเนินการกระบวนการพูดคุย น่าจะทำให้มีช่องทางที่คุยกันไปง่ายขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ต่างฝ่ายต่างเกร็งๆ ไม่รู้จะพบกันที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร แต่เวทีรัฐบาลมีพบกันอยู่แล้วเป็นประจำ ก็จะมีการช่องทางพบปะได้บ่อยขึ้น”
นายเทวินทร์ กล่าวว่า ส่วนการตัดสินใจกลับเข้าไปลงทุนหรือไม่นั้น ยังต้องรอดูบรรยากาศ หากมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันก็มีความเป็นไปได้ เพราะก่อนหน้านี้ มีการศึกษาโครงการลงทุนร่วมกันแต่ก็ชะงักไป เพราะความไม่มั่นใจว่าจะเดินไปในทิศทางใด แต่ถ้าบรรยากาศระหว่าง 2 ประเทศเป็นไปด้วยดี มีทิศทางการพูดคุยกัน เป็นไปด้วยเหตุและผล เป็นมิตรกันมากขึ้น ก็คิดว่าการหารือจะกลับมาเริ่มต้นขึ้นได้ เพียงแต่จะลงทุนหรือไม่นั่น ยังต้องรอผลสรุปสุดท้ายว่าจะออกมาอย่างไร
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2560 The Coordinating Ministry for Maritime Affairs ของอินโดนีเซียได้ยื่นฟ้อง PTTEP และ PTTEP Australasia (Ashmore Cartier) หรือ PTTEP AA ต่อศาลในกรุงจาการ์ตา เรียกร้องค่าเสียหายจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลของแหล่งมอนทารา ในทะเลติมอร์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 2552
โดยรัฐบาลอินโดนีเซียต้องการเรียกร้องค่าชดเชยที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหายเป็นเงิน 1,725 ล้านดอลลาร์ฯ หรือ 5.97 หมื่นล้านบาท และเป็นค่าดำเนินการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมอีก 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.14 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่ทางการอินโดนีเซียกล่าวอ้างประกอบด้วยป่าชายเลน พื้นที่ราว 7,500 ไร่ หญ้าทะเล ราว 8,750 ไร่ และแนวปะการัง ราว 4,300 ไร่
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2561 กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ ประเทศอินโดนีเชียได้ยื่นถอนคำฟ้องคดี โดยระบุว่าคำฟ้องยังไม่สมบูรณ์ โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้ว ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการยื่นฟ้องคดีอีกหรือไม่ ขณะที่ปตท.สผ. ได้เริ่มเข้าไปหารือกับรัฐบาลอินโดนีเซียแล้วด้วยเช่นกัน
แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 9 เม.ย. นี้ จะมีการพิจารณากระบวนการเพื่อเตรียมพร้อมการโอนทรัพย์สินธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกให้กับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด หรือ PTTOR ให้บอร์ดฯเห็นชอบ เพื่อจะรายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้น ปตท. รับทราบในวันที่ 12 เม.ย. นี้ ซึ่งจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ
โดย ปตท. คาดว่า จะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายในปลายปีนี้ และคาดว่า จะสามารถเสนอขายหุ้นสามัญของ PTTOR ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ได้ประมาณกลางปี 2562
ส่วนการคัดเลือกหาพันธมิตรร่วมลงทุนธุรกิจโรงแรมราคาประหยัด (Budget Hotel) ในสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. นั้น จะเลื่อนเสนอวาระดังกล่าวออกไปเป็นเดือน พ.ค. นี้