xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรไทย มั่นใจ “จีดีพี” โตเกิน 3.9%-จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ปรีดี ดาวฉาย” มั่นใจเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 60 ที่เติบโต 3.9% ได้รับแรงหนุนจากภาคการส่งออก ท่องเที่ยว และการลงทุนภาครัฐ แม้ไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยนอกประเทศ ทั้งกระแสกีดกันทางการค้า การโยกย้ายเงินทุน และการปรับขึ้นดอกเบี้ยเฟด

วันนี้ (9 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนา The Symbol of your Visionary : ก้าวทันเศรษฐกิจ ก้าวนำการลงทุน ปี 2018 เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2018 โดยมีนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและทิศทางการลงทุน ปี 2018” และการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นระหว่างผู้เชี่ยวชาญเรื่องหุ้นและกองทุน โดยผู้เชี่ยวชาญจาก บมจ. หลักทรัพย์กสิกรไทย และ บลจ. กสิกรไทย

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2018 ไว้ว่า “เศรษฐกิจไทยในปีนี้ คาดการณ์ว่าจะสามารถฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีอัตราการขยายตัวที่ชัดเจน น่าจะมีระดับเหนือกว่าร้อยละ 3.9 ที่ทำได้ในปี 2017 ตามแรงส่งจากภาคการส่งออก และท่องเที่ยว ตลอดจนปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากการลงทุนของภาครัฐ จากการเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่บางส่วนถูกเลื่อนมาจากปี 2017 นอกจากนี้ บนเงื่อนไขที่รัฐบาลทยอยผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ EEC และการเลือกตั้งต่าง ๆ น่าจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติ นำเม็ดเงินลงทุนโดยตรง (FDI) เข้าสู่ไทย เสริมให้ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ เดินหน้าได้อย่างมีเสถียรภาพตามที่ได้วางแผนไว้”

อย่างไรก็ตาม เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะส่วนที่มาจากปัจจัยนอกประเทศที่อยู่เหนือการควบคุม ซึ่งมี 3 กระแสเด่นที่สำคัญในปี 2018 ได้แก่

ประเด็นแรก กระแสกีดกันทางการค้า ที่นำโดยสหรัฐฯ ภายใต้ยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวใหญ่จากสหรัฐฯ แล้วหลายครั้ง โดยอ้างเหตุผลด้านการปกป้องการผลิตในประเทศ ด้านความมั่นคง และล่าสุด คือ ด้านการป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งส่งผลกระทบทั้งในระดับรายสินค้า และระดับรายประเทศคู่ค้า โดยมีหนึ่งในประเทศเป้าหมายของการถูกกีดกันที่สำคัญ คือ จีน ที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับสูงถึง 3.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2017 ที่ผ่านมา

ประเด็นที่สอง กระแสการโยกย้ายเงินทุน ในระหว่างที่รอความชัดเจนของประเด็นข้างต้น เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจมีทิศทางอ่อนค่า สวนทางกับเงินสกุลเอเชีย และเงินบาท ที่ได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินทุนไหลเข้า แต่ก่อนที่ประเด็นความกังวลจะคลี่คลาย ตลาดก็อาจกลับมาให้น้ำหนักกับปัจจัยสำคัญอื่น ๆ อาทิ สัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ สถานการณ์เหล่านี้อาจทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นไปอย่างรวดเร็ว จนมีผลต่อทิศทางค่าเงิน และราคาสินทรัพย์ทั่วโลก ให้แกว่งตัวและผันผวนในช่วงระหว่างปี

ประเด็นสุดท้าย กระแสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศแกนหลักของโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ต้องรอดูว่าจะมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเกิน 3 ครั้งในปี 2018 หรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางผลตอบแทนในตลาดการเงินโลก และไทย ได้เช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น