xs
xsm
sm
md
lg

IMF คาดเศรษฐกิจเอเชียปีนี้โต 6.5% ไทยระเบียง ศก.ช่วยถ่วงดุลบาทแข็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน360 -ไอเอ็มเอฟประเมินการเจริญเติบโตเศรฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียอยู่ที่ 6.5% ในปีนี้ และจะขยับขึ้นเป็น 6.6% ในปีหน้า โดยเอเชียยังคงเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ชี้นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯที่ทำต่อจีน และมาตรการตอบโต้กลับจากจีน กดดันให้มูลค่าการผลิตการส่งออกทั้ง2ประเทศลดลง จนกระทบต่อการเติบโตของภูมิภาคอาเซียน+3 ส่วนไทยแม้เงินบาทแข้งค่าต่อเนื่องแต่ระเบียงเศรษฐกิจช่วยพยุง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ร่วมกับรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในการเข้าร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: AFCDM+3) ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2561 โดยในการประชุมครั้งนี้ผู้แทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ประมาณการเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2561 และ 2562 ที่ร้อยละ 3.9 โดยมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียที่ร้อยละ 6.5 ในปี 2561 และร้อยละ 6.6 ในปี 2562 ทั้งนี้เศรษฐกิจเอเชียยังคงเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

สำหรับปัจจัยบวกของการเติบโตเศรษฐกิจเอเชียโดยหลักมาจากภาคการส่งออกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องหนี้ภาคเอกชนและภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงจากตลาดการเงินและนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกาที่ยังคงมีความแตกต่างระหว่างความคาดหวังของตลาดและการปรับตัวอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจริง นอกจากนี้ นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อจีน และมาตรการตอบโต้จากจีนต่อสหรัฐฯ จะส่งผลให้มูลค่าการผลิตการส่งออกโดยรวมของทั้งสหรัฐฯ และจีนลดลง และกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับทั้งสองมหาอำนาจในท้ายที่สุด

ขณะเดียวกัน แม้ในปัจจุบันระบบการเงินอาเซียน+3 ยังคงมีเสถียรภาพก็ตาม แต่จากการที่มีเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานานจึงมีความเสี่ยงต่อปัจจัยภายนอกที่อาจทำให้เงินทุนไหลออก ทำให้ทางด้านธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) จึงได้เสนอให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศโดยใช้นโยบายการคลังและภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาระบบสวัสดิการสังคม พัฒนาระบบการศึกษาและการฝึกอาชีพเพื่อพัฒนาทักษะของแรงงานให้ตอบสนองต่อนวัตกรรมด้านการผลิตและอุตสาหกรรมในรูปแบบใหม่

นอกจากนี้ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) เสนอให้ประเทศสมาชิกกระจายการพัฒนาในภาคเศรษฐกิจโดยผสมผสานภาคการผลิตและภาคบริการ ปรับปรุงการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเพื่ออำนวยความสะดวกภาคการค้าและการลงทุน ตลอดจนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาภาคบริการโดยเฉพาะบริการด้านการเงิน

ส่วนประเทศไทยนั้น AMRO เห็นว่า ถึงแม้ภาคการส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากมาตรการปกป้องทางการค้าของสหรัฐอเมริกา และการที่นักลงทุนต่างชาติถือตราสารหนี้ระยะสั้นในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะเงินทุนไหลออกจากการที่สหรัฐฯ ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แต่การดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและโครงการระเบียงเศรษฐกิจกิจตะวันออก จะช่วยลดความเสี่ยงให้เศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ AMRO สนับสนุนให้ไทยดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินแบบขยายตัวต่อไป

ทั้งนี้ผู้บริหารของกระทรวงการคลังและธนาคารกลางในที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นว่าการดำเนินมาตรการปกป้องทางการค้าในลักษณะเดียวกับมาตรการของสหรัฐอเมริกาเป็นปัจจัยที่สมาชิกไม่สนับสนุนแต่ไม่สามารถควบคุมได้ การแข่งกันออกมาตรการปกป้องทางการค้าจะยิ่งส่งผลให้เกิดสงครามทางการค้า สมาชิกจึงควรเร่งขยายและกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดต่างๆ รวมถึงปรับปรุงโครงสร้างภายในประเทศให้เหมาะสม


กำลังโหลดความคิดเห็น