ปตท.ยันชะลอลงทุนโครงการใหม่ในอินโดนีเซียต่อไป แม้รัฐบาลอินโดนีเซียถอนฟ้องกลุ่ม ปตท.คดีมอนทาราเพราะเชื่อว่าเป็นการถอนฟ้องชั่วคราวเนื่องจากเกิดความผิดพลาดในคำฟ้อง
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ อินโดนีเซียได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ปตท. บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท PTTEP Australasia (Ashmore Cartirer) Pty .Ltd ต่อศาลในประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น เนื่องจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมฯ มีการใส่ชื่อบริษัทผิดพลาด ทำให้ต้องถอนฟ้องเพื่อมาแก้ไขคำฟ้อง คาดว่าทางรัฐบาลอินโดนีเซียจะกลับมายื่นฟ้องกลุ่ม ปตท.ใหม่อีกครั้งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วในแหล่งมอนทารา ประเทศออสเตรเลีย
ดังนั้น กลุ่ม ปตท.ยังคงชะลอการลงทุนใหม่ในประเทศอินโดนีเซียต่อไปจนกว่าจะมีความชัดเจนในกรณีดังกล่าว ส่วนโครงการเดิมที่กลุ่ม ปตท.มีการลงทุนอยู่ในอินโดนีเซียอยู่แล้วก็ยังดำเนินธุรกิจอยู่ต่อไปให้ดีที่สุดเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นผู้ดำเนินการที่รับผิดชอบและมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน ปตท.สผ.ลงทุนในแปลงสำรวจและแปลงผลิตปิโตรเลียมบางส่วน ส่วน ปตท.มีการลงทุนเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย ส่วน ปตท.จะกลับเข้าไปลงทุนโครงการใหม่ในอินโดนีเซียอีกครั้งเมื่อใดนั้นคงต้องปล่อยสถานการณ์เดินไปเรื่อยๆ ยังไม่ตัดสินใจจนกว่าทุกอย่างจะมีทิศทางที่ดีขึ้นหรือมีความชัดเจนจึงค่อยตัดสินใจ
ช่วงจังหวะนี้ยังไม่เหมาะสมที่จะลงทุนใหม่ทั้งสองฝ่าย เนื่องจาก ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจของไทย หากจะตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติมขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียฟ้องร้องอยู่ทำให้ต่างฝ่ายต่างไม่สบายใจที่จะมีการเจรจาธุรกิจร่วมกัน แต่ยอมรับว่าอินโดนีเซียเคยเป็นประเทศที่ ปตท.ให้ความสำคัญในการลงทุน เนื่องจากเป็นประเทศที่ทรัพยากรและประชากรมาก รวมทั้งอุปนิสัยคนอินโดนีเซียก็ใกล้เคียงไทย
ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท.ให้ความสำคัญในการลงทุนกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะพม่าที่ ปตท.สผ.ได้เข้าไปลงทุนเมื่อ 28 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุด ปตท.สผ.ได้ยื่นเสนอที่จะนำก๊าซฯ ในแหล่ง M3 ไปต่อยอดสู่ธุรกิจไฟฟ้าจำหน่ายภายในประเทศพม่าเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในพม่า นับเป็นโมเดลหนึ่งของกลุ่ม ปตท.เนื่องจากไฟฟ้าเป็นพลังงานในอนาคต โดย ปตท.มีความเข้มแข็งด้านการจัดหา วางท่อก๊าซฯ โรงแยกก๊าซฯ ทำโรงไฟฟ้า สร้างคลังรับแอลเอ็นจี ฯลฯ โดยมีประสบการณ์ตลอดสายโซ่ก๊าซฯ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ธุรกิจ ส่วนจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลพม่าจะพิจารณาว่ากลุ่ม ปตท.มีคุณสมบัติเพียงพอหรือไม่