“บิ๊กตู่” สั่งกระทรวงพลังงาน-ต่างประเทศ ติดตามความคืบหน้าคดีอินโดนีเซียฟ้องเรียกค่าเสียหาย “ปตท.สผ.” 7 หมื่นล้าน ค่าชดเชยที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหายจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลจากแหล่งมอนทารา ตั้งแต่ปี 2552 ย้ำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และโอกาสทางการลงทุนของประเทศไทยในอินโดนีเซีย
วันนี้ (3 เม.ย.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ภายหลังที่ พล.อ.ลูฮุท บินซาร์ ปันด์จัยตัน (H.E. Gen. Luhut Binsar Pandjaitan, Retired) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานด้านกิจการทางทะเล สาธารณรัฐอินโดนีเซีย พร้อมด้วยผู้ว่าการธนาคารอินโดนีเซีย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เมื่อวันที่ 26 มีนาคม เพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และนำส่งสารเชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุม ASEAN Leaders’ Gathering จากประธานาธิบดีอินโดนีเซีย
ล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ นอกจากจะให้กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามเรื่องการแกํไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) อย่างรอบด้าน เพื่อน่าข้อมูลดังกล่าวมาประชาสัมพันธ์สร้างการรับเแก่ทุกภาคส่วน
แหล่งข่าวระบุว่า ในการหารือเรื่องพลังงาน นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศ ติดตามความคืบหน้าในคดีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปีโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จากเหตุการณ์นํ้ามันรั่วไหลของแหล่งมอนทารา เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐและโอกาสทางการลงทุนของประเทศไทยในอินโดนีเซีย
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2560 มีข่าวปรากฏในสื่อว่า The Coordinating Ministry for Maritime Affairs อินโดนีเซีย ยื่นฟ้อง บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และ PTTEP Australasia (Ashmore Cartier) หรือ PTTEP AA ต่อศาลในกรุงจาการ์ตา เรียกร้องค่าเสียหายจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลของแหล่งมอนทาราในทะเลติมอร์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 2552
ปตท.สผ.ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงในครั้งนั้นว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลขึ้นในปี 2552 PTTEP AA บริษัทย่อยของ ปตท.สผ.ในฐานะผู้รับสัมปทานและผู้ดำเนินการโครงการมอนทารา ได้ประสานงานกับรัฐบาลออสเตรเลียทำการจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอิสระด้านสิ่งแวดล้อมทำการศึกษา วิจัย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการรั่วไหลของน้ำมัน ผลการศึกษาสรุปได้ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในน่านน้ำออสเตรเลีย และบริเวณใกล้เคียงน่านน้ำอินโดนีเซียแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังได้ทำการศึกษาภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ รวมถึงการสร้างแบบจำลองการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมัน (Trajectory Modelling) พบว่าคราบน้ำมันส่วนใหญ่อยู่ในน่านน้ำออสเตรเลีย ที่สำคัญคือคราบน้ำมันไม่ได้ลอยเข้าสู่แนวชายฝั่งทั้งออสเตรเลียและอินโดนีเซีย
เมื่อปี 2553 ปตท.สผ.และ PTTEP AA ได้รับทราบว่ารัฐบาลอินโดนีเซียยื่นข้อเรียกร้องค่าเสียหายว่าน้ำมันที่รั่วไหลส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีผลต่อการประมง ปตท.สผ. และ PTTEP AA ได้ประสานงานกับรัฐบาลอินโดนีเซีย เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ปตท.สผ. และ PTTEP AA ยินดีที่จะเจรจาอย่างสุจริตใจและร่วมกับรัฐบาลอินโดนีเซียในการพิสูจน์ความเสียหาย รวมถึงจัดส่งผลการศึกษาให้กับรัฐบาลอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลบริเวณแนวปะการังบริเวณใกล้เคียงกับน่านน้ำอินโดนีเซีย เพื่อตรวจสอบว่ามีคราบปิโตรเลียมหรือไม่ ผลการทดสอบพบว่าไม่พบคราบปิโตรเลียมซึ่งมาจากการรั่วไหลของแหล่งมอนทารา และไม่พบการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อสภาพปะการังในบริเวณดังกล่าว
PTTEP AA ได้เจรจากับรัฐบาลอินโดนีเซียเป็นเวลาพอสมควร และพยายามที่จะประสานงานเพื่อลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง PTTEP AA กับรัฐบาลอินโดนีเซีย เพื่อหาข้อยุติและพิสูจน์ความเสียหาย (หากมี) ร่วมกัน เริ่มด้วยการให้ทั้งสองฝ่ายจัดส่งเอกสารหลักฐานในส่วนของตน โดย PTTEP AA ได้ดำเนินการจัดส่งผลการศึกษา แต่ทางรัฐบาลอินโดนีเซียยังไม่ได้จัดส่งเอกสารเพื่อพิสูจน์ความเสียหาย รวมถึงยังไม่อนุญาตให้ PTTEP AA เข้าพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ MOU ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการกลางร่วมกัน เพื่อให้ความเห็นจากผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ปตท.สผ. และ PTTEP AA พร้อมรับฟังหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความเสียหายที่เกิดขึ้นและพร้อมจะรับผิดชอบหากมีความเสียหายที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดขึ้นจริง โดยสามารถดูผลการวิจัยเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากเหตุการณ์ดังกล่าว ที่http://www.environment.gov.au/node/18259 และที่http://www.au.pttep.com/sustainable-development/environmental-monitoring/
ขณะที่สื่อต่างประเทศรายงานในครั้งนั้นว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอินโดนีเซียต้องการเรียกร้องความยุติธรรม โดยต้องการค่าชดเชยที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหายเป็นเงิน 1,725 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5.97 หมื่นล้านบาท และเป็นค่าดำเนินการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมอีก 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.14 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมประกอบด้วยป่าชายเลน พื้นที่ราว 7,500 ไร่ หญ้าทะเล ราว 8,750 ไร่ และแนวปะการัง ราว 4,300 ไร่