xs
xsm
sm
md
lg

ชงบอร์ด ปตท.อนุมัติแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ GPSC เตรียมติดตั้งโซลาร์รูฟบนหลังคาปั๊ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปตท.ชงแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในอนาคตให้บอร์ดบริษัทพิจารณา 21 ก.ค.นี้ พร้อมหนุน GPSC ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาปั๊มน้ำมัน “ปิยสวัสดิ์” จี้รัฐปรับโครงสร้างค่าไฟใหม่ หลังใช้มานาน 10 ปี

แหล่งข่าวระดับสูง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ วันที่ 21 ก.ค.นี้จะมีการพิจารณาแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท.ในอนาคต ตามที่ผู้บริหารระดับสูงกลุ่ม ปตท.ได้มีการประชุมทบทวนและกำหนดเป็นแผนยุทธ์ศาสตร์เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต (Strategic Thinking Session:STS) เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ (disruptive technology) เช่น พัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์ได้ปรับลดลงมาก แต่ยังติดเรื่องแบตเตอรี่ที่กักเก็บพลังงานยังมีราคาสูงอยู่ ซึ่งบริษัทลูกของ ปตท.คือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ก็มีแผนที่จะตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทย หลังจากเข้าไปถือหุ้นในบริษัท 24M รวมทั้งยังมีแผนงานติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ทั่วประเทศเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในปั๊มแทนการซื้อไฟจากระบบ

ทั้งนี้ ต้นทุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในปัจจุบันต่ำมากอยู่ที่ 5.5 หมื่นบาท/กิโลวัตต์ ซึ่งคุ้มค่าต่อการลงทุน ดังนั้นแนวโน้มจะเห็นการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานอุตสาหกรรมและบ้านเรือนเพิ่มมากขึ้น ย่อมจะกระทบต่อรายได้การไฟฟ้า ดังนั้น การไฟฟ้าฯ จำเป็นต้องปรับตัวเอง ส่วนกรณีที่ภาครัฐมีแนวคิดจะจัดเก็บอัตราระบบสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) นั้นต้องคำนึงว่ามีเหตุผลหรือไม่ เพราะ Backup Rate อยู่ในโครงสร้างค่าไฟฟ้าอยู่แล้ว

ส่วนข้อกังวลว่าหากมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกันมากจะทำให้การใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) การใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนจากกลางวันเป็นกลางคืน แล้วทำให้การไฟฟ้ามีต้นทุนเพิ่มจากการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเพื่อสำรองไฟลากยาวจากกลางวันไปถึงกลางคืนนั้น ก็ควรพิจารณาปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ รวมทั้งปรับอัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลา (TOU) ใหม่ได้จากกลางวันเป็นกลางคืนแทน โดยโครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมานาน 10 ปีแล้ว

นายปิยสวัสดิ์กล่าวถึงธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ว่า ขณะนี้ ปตท.ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน คือ พีทีที โกลบอล แอลเอ็นจี เพื่อลงทุนสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่แอลเอ็นจี โดยจะเข้าไปถือหุ้นในโรงงานผลิตแอลเอ็นจีจากก๊าซเป็นของเหลว (Liquefaction) ของปิโตรนาส ประเทศมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้ราคาแอลเอ็นจีต่ำมากใกล้เคียงถ่านหิน และไม่ได้ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ลดแรงต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าด้วย

ปตท.ได้ทำสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาวที่มีเงื่อนไขดีมาก อาทิ สัญญาซื้อแอลเอ็นจีจากเชลล์ บีพี และปิโตรนาส เว้นสัญญาซื้อแอลเอ็นจีจากกาตาร์ที่ค่อนข้างสูง แต่มั่นใจว่าหากราคาน้ำมันจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาแอลเอ็นจีจะไม่เกิน 16 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียูเหมือนในอดีต แต่จะอยู่ที่ 10-12 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู
กำลังโหลดความคิดเห็น