ทีดีอาร์ไอแนะภาครัฐเตรียมรับมือโซลาร์รูฟท็อปที่อนาคตจะเติบโต หลังต้นทุนเริ่มต่ำซึ่งจะกระทบต่อรายได้การไฟฟ้า ปัญหาพีกที่เปลี่ยนไป ความไม่แน่นอนระบบไฟ ด้วยการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ให้สะท้อนประเภทและมูลค่าของต้นทุน ชี้แม้ว่ารัฐจะพยายามเก็บค่าสำรองไฟ หรือ Backup Rate ก็ไม่ช่วยแก้ปัญหา
น.ส.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานเสวนา “สู่การเปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อป : เราจะอยู่กับ disruptive technology อย่างไร” ว่า ไทยมีค่าความเข้มข้นของแสงอาทิตย์สูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงทำให้อัตราการเติบโตของการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าบนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อปจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และการลงทุนเพื่อผลิตใช้เองมีความคุ้มค่าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ แล้วอนาคตการติดตั้งจะขยายตัวสูงซึ่งจะส่งผลกระทบที่สำคัญ คือ รูปแบบการใช้ไฟในแต่ละช่วงวันจะเปลี่ยนไป ความไม่แน่นอนในระบบไฟฟ้ามากขึ้น และหน่วยจำหน่ายไฟฟ้าลดลงมาก ขณะที่ความต้องการลงทุนในระบบผลิตไฟฟ้าและสายส่งลดลงเพียงเล็กน้อย ดังนั้นแนวทางแก้ไขคือรัฐจำเป็นต้องปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้สะท้อนประเภทและมูลค่าของต้นทุน
“ผลของปัญหาที่โซลาร์เข้าระบบมากขึ้นนั้นทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือพีกที่เคยเกิดกลางวันมีโซลาร์ตัดไปก็ไปเป็นกลางคืน ไฟในระบบก็ลดลงแต่รายจ่ายในการลงทุน (Fixed Cost) อาจไม่ลดและยังมีโอกาสเพิ่มขึ้น ก็จะกระทบต่อรายได้ที่ลดลงของการไฟฟ้า แม้ว่ารัฐเตรียมจะแก้ไขด้วยการเก็บอัตราระบบสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) สำหรับผู้ตั้งตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่จะนำร่องจากรายใหญ่เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อรายได้ที่ลดลงแต่ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงาน และพีกไฟฟ้าช่วงกลางคืนยังมีอยู่ทำให้ต้นทุนยังสูงอยู่” น.ส.วิชสิณีกล่าว
ปัจจุบันโครงสร้างค่าไฟมีต้นทุนคงที่ ต้นทุนผันแปร และต้นทุนกำลังการผลิตไฟฟ้า โดยในส่วนของต้นทุนคงที่ที่เรียกเก็บค่าบริการรายเดือนจะสะท้อนต้นทุนค่าบิล, ค่ารักษามิเตอร์, ค่าส่งเอกสารของการไฟฟ้าฯ จึงควรเพิ่มเติมต้นทุนอื่นๆ เช่น ค่าสร้างและบำรุงระบบส่ง เพื่อลดปัญหารายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอต่อการชดเชยต้นทุนคงที่
ส่วนต้นทุนผันแปรที่เพิ่มตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าควรสะท้อนต้นทุนตามช่วงเวลาสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม เพิ่มจำนวนมิเตอร์อัตโนมัติและแบ่งช่วงเวลาให้ละเอียดขึ้นเช่น อัตราค่าไฟช่วงหัวค่ำ ฤดูร้อนแพงกว่าฤดูหนาวเพื่อลดพีกและส่งเสริมการติดตั้งสำรองไฟ ขณะที่ต้นทุนกำลังการผลิตไฟฟ้าปัจจุบันเก็บค่าพลังงานไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟขนาดใหญ่เท่านั้น จึงควรขยายฐานไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทครัวเรือนขนาดใหญ่และกิจการขนาดเล็กด้วย จากเดิมเก็บแค่ผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการติดตั้งอุปกรณ์สำรองไฟฟ้า (Energy Storage) และลดปัญหารายได้ไม่เพียงพอสำหรับระบบสำรองไฟฟ้า
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า การจัดเก็บอัตราระบบสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) สำหรับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าแบบผลิตเองใช้เองนั้นภาครัฐเริ่มเก็บกับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่ไม่ใช่ผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปรายเล็ก โดยได้มอบให้ 3 การไฟฟ้าไปสำรวจฐานข้อมูลและอัตราที่เหมาะสมซึ่งจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนใช้จริง คาดว่าจะสรุปสิ้นปีและจะไม่มีผลย้อนหลังสำหรับผู้ที่ติดตั้งเองใช้เองไปก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเองและใช้เองมากขึ้น กกพ.เตรียมนำร่องจัดเก็บอัตราค่าบริการสายส่งและจำหน่าย (วิลลิ่ง ชาร์จ) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ที่ผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้ผู้ประกอบการหรือโรงงานที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อลดปัญหาความซ้ำซ้อนในการลงทุนก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า และลดผลกระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้าฯ ที่หายไป คาดว่าแนวทางดังกล่าวจะสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนได้ภายในปีนี้