“พพ.” ยันยังไม่สรุปแผนโซลาร์รูฟท็อปเสรีว่าจะรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบหรือไม่ ต้องรอให้สถาบันพลังงานจุฬาฯ เร่งสรุปในเดือน ส.ค.ก่อนรวบรวมเสนอ รมว.พลังงาน ก.ย.เคาะ เผย 2 ทางเลือกหลักหากรับซื้อราคาบ้านกับอาคารโรงงานต้องต่างกันและไมใช่ FiT แต่หากไม่ซื้อเข้าระบบจ่อใช้มาตรการภาษีจูงใจบ้านติดตั้ง
นายยศพงศ์ คุปตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.อยู่ระหว่างรอผลศึกษาของสถาบันพลังงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อสรุปแนวทางโครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) เสรีที่คาดจะเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อนำเสนอให้ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เห็นชอบภายใน ก.ย.
“เดิมโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีนำร่องไม่ได้ซื้อไฟเข้าระบบการศึกษาจะต่อยอดว่าควรรับซื้อหรือไม่ และซื้อปริมาณเท่าใด ดังนั้นยังสรุปไม่ได้” นายยศพงศ์กล่าว
นายสุรีย์ จรูญศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ พพ. กล่าวว่า จำเป็นต้องรอผลการสรุปจากจุฬาฯ ว่าที่สุดจะรับซื้อไฟเข้าระบบหรือไม่ และหากซื้อควรมีปริมาณเท่าใด โดยเบื้องต้นที่ได้หารือกับทุกส่วนคือมีความเป็นไปได้ 2 แนวทาง คือ กรณีเปิดรับซื้อไฟเข้าระบบได้หลักการต้องผลิตไฟใช้เองเป็นหลักที่เหลือส่งขายเข้าระบบจะต้องมีราคารับซื้อต่างกันระหว่างอาคารโรงงานกับบ้านที่อยู่อาศัยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เพราะอาคารโรงงานจะได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และมีขนาดที่ใหญ่ต้นทุนรวมจะต่ำกว่าบ้านที่อยู่อาศัย โดยราคาจะไม่ใช้ระบบ FiT แน่นอน เพราะอนาคตการซื้อไฟจากโซลาร์เซลล์จะต้องเป็นระบบประมูลแข่งขันเช่นพลังงานทดแทนอื่นๆ
ส่วนกรณีที่ไม่รับซื้อไฟเข้าระบบก็จะมีการพิจารณามาตรการสนับสนุนบ้านที่อยู่อาศัยมากขึ้นโดยเฉพาะมาตรการด้านภาษี เช่น เงินลงทุนสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้ เนื่องจากในส่วนของอาคารโรงงานมีมาตรการบีโอไอส่งเสริมอยู่แล้ว รวมถึงการสนับสนุนแหล่งเงินทุน เช่น ESCO FUND
“โครงการนี้รัฐพยายามจะดำเนินการสรุป และหากมีการรับซื้อเข้าระบบก็จะเปิดช่วงปลายปีนี้เป็นอย่างเร็ว หรือต้นปี 2561 เป็นอย่างช้า” นายสุรีย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. พพ. และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้ร่วมลงนามมอบโอนครุภัณฑ์ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” จำนวน 143 แห่ง เพื่อสนับสนุนการศึกษาในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ขยายเขตเข้าไม่ถึงให้มีไฟฟ้าเพียงพอใช้กับอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน โสตทัศนูปกรณ์ และกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวเป็นไปตามแผนปฏิบัติการพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก (AEDP) พ.ศ. 2558-2579 ของกระทรวงพลังงาน ในการมุ่งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างเข้าถึงประชาชนและเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมา พพ.ได้มีการจัดหาระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ให้กับโรงเรียนหรือศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ในพื้นที่ชนบทมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547 จำนวน 40 แห่ง และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน (2560) จำนวนรวม 256 แห่ง ได้กำลังการผลิต 384 กิโลวัตต์
“พพ.ได้สนับสนุนระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 1,500 วัตต์ให้กับศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวงของ กศน.เมื่อปีงบประมาณ 2547 จำนวน 40 แห่ง จนปีนี้มีแล้ว 256 แห่ง ซึ่งจะมอบโอนในครั้งแรกจำนวน 143 แห่ง ขณะเดียวกัน พพ.ยังคงมีการติดตามส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปบำรุงรักษาระบบฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ศูนย์ฯ ได้ใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ชนบทให้มากที่สุด” นายยศพงศ์กล่าว…