xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นรัฐเปิดรับซื้อโซลาร์รูฟท็อปเสรี 1,000 เมกะวัตต์ รับวิกฤตก๊าซปี 64-66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สนพ.” เร่งเคาะแผนรับวิกฤตก๊าซปี 2564-66 เตรียมศึกษาแนวทางการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปเสรีราว 1,000 เมกะวัตต์แต่ยังไม่ได้สรุปรูปแบบหรือแนวทางที่ชัดเจน เหตุยังมีหลายประเด็นที่ถกเถียงโดยเฉพาะการมีสำรอง (แบ็กอัพ) พร้อมกันนี้ยังเตรียมซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวเพิ่ม 500-600 เมกะวัตต์

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนพ.อยู่ระหว่างการหามาตรการรองรับสภาวะวิกฤตก๊าซธรรมชาติปี 2564-2566 เนื่องจากความล่าช้าการบริหารจัดการก๊าซในอ่าวไทยทำให้การผลิตลดลง ประกอบกับโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนจะส่งผลกระทบต่อก๊าซฯ หายไปประมาณ 2 ล้านตัน หรือเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหายไป 1,700 เมกะวัตต์ โดยแผนทั้งหมดจะสรุปภายในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ โดยแผนหนึ่งที่กำลังหารือเพื่อลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ช่วงกลางวัน คือการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์รูฟท็อป) ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์

“ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าการรับซื้อจะเป็นรูปแบบโดยจะเปิดเสรีทั่วไป รูปแบบทั้งผลิตเองใช้เองหรือให้อัตราอุดหนุนบางส่วน อย่างไรก็ตาม ต้นทุนแผงโซลาร์ที่ลดลงทำให้เกิดการคุ้มค่าเรื่องผลิตไฟฟ้าใช้เอง ขณะที่เอกชนเสนอเสรีแต่ก็ขอให้ต้องมีระบบสำรองไฟฟ้าหรือ Back Up ด้วย ก็ต้องมาดูว่าต้นทุนส่วนนี้จะรับผิดชอบร่วมกันอย่างไร” นายประเสริฐกล่าว

ทั้งนี้ แผนดังกล่าวยังมีการซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน โดย สปป.ลาวอาจจะรับซื้อเพิ่มได้ประมาณ 500-600 เมกะวัตต์ จากในส่วนของการผลิตไฟจากพลังงานน้ำในโครงการน้ำเทิน 1 ที่เดิมกำหนดเสร็จปี 2565 แต่ขณะนี้โครงการกำหนดจะเสร็จเร็วในปี 2564 และโครงการไซยะบุรีที่จะส่งมาไทยได้เพิ่มขึ้น รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสาที่อาจจะนำไฟฟ้าส่วนขายให้ สปป.ลาวมาขายให้ไทยก่อน ส่วนจีนที่เสนอมา 1,000 เมกะวัตต์นั้นคงเป็นไปได้ยากเนื่องจากระบบส่งค่อนข้างยาวต้องผ่าน สปป.ลาวในระยะรวมกว่า 600 กิโลเมตร
กำลังโหลดความคิดเห็น