xs
xsm
sm
md
lg

พพ.จ่อปรับแผน AEDP พร้อมเปิดรับซื้อโซลาร์รูฟรอบใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พพ.” เผยอยู่ระหว่างการปรับร่างแผน PDP2015 ใหม่ให้สอดรับกับนโยบายนายกฯ เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้าเป็น 40% ในปี 2579 แย้มพลังงานแสงอาทิตย์โอกาสสูงเพราะต้นทุนต่ำไม่กระทบประชาชน โอกาสรับซื้อโซลาร์รูฟท็อปรอบใหม่มีแน่แต่ต้องขอสรุปอีกครั้ง

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมปรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP-2015) เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็น 40% ตามนโยบายนายกรัฐมนตรีซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผน AEDP ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไม่เกินสิ้นปีนี้

“แผน AEDP 2015 (ปี 2558-2579) เดิมกำหนดเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในรูปของไฟฟ้า 20% หากต้องเพิ่มเป็น 40% กำลังผลิตไฟทั้งหมด 1.9 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 2579 เมื่อสิ้นสุดแผนก็จะเพิ่มอีกประมาณเกือบเท่าตัว ทั้งนี้ก็ต้องมาดูรายละเอียดจะกำหนดพลังงานทดแทนแต่ละชนิดอย่างใดเพิ่มขึ้นซึ่งหลักการเลือกนั้นจะต้องไม่กระทบต่อค่าไฟ้ฟาที่จะมีผลต่อประชาชน และร่างแผนนี้ก็ต้องรอสรุปอีกครั้งหนึ่งด้วย” นายประพนธ์กล่าว

ทั้งนี้ หากพิจารณาเบื้องต้นยอมรับว่าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีโอกาสเพิ่มสัดส่วนสูงสุดเนื่องจากเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนที่ทำให้ต้นทุนมีทิศทางถูกลง แต่จะต้องดูรายละเอียดว่าจะส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบใดซึ่งมีทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) พลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) หรืออื่นๆ เช่น โซลาร์ลอยน้ำ โดยศักยภาพคาดว่าโซลาร์รูฟท็อปเสรีน่าจะมีโอกาสเพราะจะลดความต้องการใช้ไฟสูงสุด (พีก) ช่วงกลางวันได้ จึงควรส่งเสริมให้ผลิตเองแล้วใช้เอง ส่วนที่เหลือสามารถขายเข้าระบบ แต่ราคารับซื้อคงจะต้องต่ำหรือใกล้เคียงกับราคาขายส่ง โดยรายละเอียดชัดเจนคงต้องรอผลศึกษาจากสถาบันบริหารพลังงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จะเข้ามารายงานวันที่ 7 ก.ค.นี้

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า คณะอนุกรรมการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ อยู่ระหว่างจัดทำแผนพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศใหม่ โดยเฉพาะความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ของประเทศปี 2560 ที่ปรับลดลงต่ำกว่าคาดการณ์อยู่ที่ 30,303.4 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าปี 2559 อยู่ที่ 30,972.73 เมกะวัตต์ หรือต่ำกว่า 2%

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ความต้องการใช้ต่ำกว่าแผน เช่น อุณหภูมิ การเติบโตทางเศรษฐกิจ การผลิตไฟฟ้าใช้เองของประชาชน และมาตรการประหยัดพลังงานของภาครัฐ โดยการจัดทำแผนจะเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ และจะนำไปใช้ในการปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558-2579 (Gas Plan)” นายประเสริฐกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น