กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเตรียมเปิดรับฟังความเห็นร่างกฎกระทรวงรูปแบบสัญญาจ้างบริการ หรือ SC เพื่อเป็น 1 ใน 3 แนวทางการเปิดประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกช หลังเปิดรับฟังระบบ PSC เสร็จสิ้นแล้ว หวังเปิดประมูลได้ปลาย ก.ค.นี้หรือต้น ส.ค. 60 พร้อมปรับแผนบริหารจัดการก๊าซฯ สอดรับกับแผนอื่นๆ ที่ต้องปรับทั้ง 5 แผน จับตาแผน AEDP จ่อลดสัดส่วนเอทานอลและไบโอดีเซล
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการออกกฎหมายลูกมารองรับการเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกชที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานระหว่างปี 2565-66 ว่า เร็วๆ นี้กรมฯ เตรียมจะเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาจ้างบริการ หรือ SC พ.ศ…..ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของกรมฯ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปแสดงความคิดเห็นและการรับฟังความคิดเห็นแบบกลุ่มย่อย (Focus Group) ที่เน้นกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) หลังจากที่ได้เปิดรับฟังความเห็นร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) พ.ศ……เสร็จสิ้นแล้ว
“จากการเปิดรับฟังความเห็นร่าง SC นั้นจะได้ดำเนินการเสร็จแล้ว ซึ่งจากการเปิดรับความเห็นที่ผ่านมาในระบบ PSC นั้นก็มีข้อกังวลบางประการที่เอกชนอยากให้ปรับปรุงแก้ไข เราก็จะต้องมาพิจารณา แต่หลักการทั่วไปในภาพใหญ่ไม่ได้มีข้อท้วงติงอะไร” นายสราวุธกล่าว
ทั้งนี้ กรมฯ มองเป้าหมายนโยบายที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กำหนดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลไม่เกินเดือน ก.พ. 2561 ขั้นตอนการเปิดประมูลจนถึงได้ผู้ชนะนั้นจะมีเวลา 6-7 เดือน จึงมองว่าน่าจะมีการเปิดให้เอกชนมายื่นประมูลได้ราวปลายเดือน ก.ค. หรือต้นเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนรูปแบบการเปิดประมูลจะกำหนดรูปแบบไว้ในเงื่อนไขสัญญาไปเลยว่าแหล่งใดใช้ระบบใดหรือให้เอกชนเป็นผู้เสนอมายังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่าหลังเปิดรับฟังความเห็นร่าง SC แล้วน่าจะพอเห็นแนวทางดำเนินการได้ แต่การประมูลจะเปิดแยกประมูลระหว่างแหล่งบงกช กับเอราวัณ
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้มีการหารือเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บมจ.ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างการปรับแผนบริหารจัดการก๊าซ(GAS PLAN) จากปัญหาความล่าช้าของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งแผนดังกล่าวจะต้องสอดรับกับแผนอื่นๆ ทั้งแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) แผนบริหารจัดการน้ำมัน (OIL PLAN) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และ AEDP อย่างไรก็ตาม การปรับแผนจะต้องคำนึงถึงการพยากรณ์ความต้องการใช้พลังงานในภาพรวมก่อนจึงจะทำให้สามารถปรับแผนที่ชัดเจนได้
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ปรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) ปี พ.ศ. 2558-79 ให้สอดรับกับสถานการณ์พลังงานโลกในระยะยาวและนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟจากพลังงานทดแทนเป็น 40% โดยเบื้องต้นในส่วนของเชื้อเพลิงชีวภาพ ได้แก่ เอทานอล และไบโอดีเซลนั้นจะปรับลดสัดส่วนลงมาอยู่ที่อย่างละ 7 ล้านลิตรต่อวันในปี 2579
ทั้งนี้ แผนเดิมนั้นกำหนดการใช้เอทานอลไว้ที่ 11.30 ล้านลิตรต่อวัน และไบโอดีเซลที่ 14 ล้านลิตรต่อวัน เมื่อสิ้นสุดแผนในปี 2579 แผนใหม่ที่จะปรับลดมาเหลืออย่างละ 7 ล้านลิตรต่อวันเมื่อสิ้นสุดแผนหรือลดเอทานอลลงประมาณ 4.4% และลดไบโอดีเซลลงประมาณ 7% ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากการประเมินแนวโน้มราคาน้ำมันระยะยาวมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจากแผนเดิมที่มองว่าราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะสูงเฉลี่ยในระดับ 90-100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่แนวโน้มราคาพลังงานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาและแนวโน้มในอนาคตกลับพบว่าราคาเริ่มไม่สูงมากนักและคาดว่าจะทรงตัวในระดับต่ำ ขณะเดียวกันยังพบว่าประสิทธิภาพการผลิตยังไม่ดีขึ้น
“แผนดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุปเพียงแต่เป็นแนวทางที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายก่อน ซึ่งปัจจัยสำคัญในการลดลงเพราะราคาน้ำมันโอกาสจะเห็นแตะระดับ 90-100 เหรียญต่อบาร์เรลนั้นคงจะยากขึ้น เว้นแต่กรณีการเกิดสงครามเท่านั้นเพราะมีกรณีของแหล่งน้ำมันหินดินดาน (Shale Oil) โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ที่พร้อมจะผลิตเพิ่มได้ทุกเมื่อหากน้ำมันดิบตลาดโลกสูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลของไทยเองยังคงสูงอยู่การส่งเสริมฯ มากๆ ในช่วงที่น้ำมันราคาไม่สูงอาจไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่ในแง่ของเกษตรกรเองก็ยังมีประเด็นถกเถียงว่าประโยชน์ถึงมือเกษตรกรมากน้อยเพียงใด ซึ่งปัจจุบันการใช้เอทานอลเฉลี่ยอยู่ที่ 3.70 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ไบโอดีเซลใช้อยู่ที่เฉลี่ย 3.30 ล้านลิตรต่อวัน” แหล่งข่าวกล่าว