xs
xsm
sm
md
lg

กรมเชื้อเพลิงฯ ชง “อนันตพร” 2 ทางเลือก เร่งเคลียร์ปิโตรเลียมในพื้นที่ ส.ป.ก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมเชื้อเพลิงทำรายงานข้อมูลผลกระทบ 7 แหล่งปิโตรเลียมหยุดผลิตจากปัญหาพื้นที่ ส.ป.ก.เสนอต่อ “อนันตพร” เร่งแก้ไขปัญหาแล้วชง 2 ทางเลือกแก้ไข โดยหารือใน “ครม.” หรือหารือใน บยศ. เผยการใช้ ม.44 จะเป็นตัวเลือกสุดท้าย รับเอกชน 7 รายที่หยุดผลิตชี้เป็นโอกาสดีที่รัฐต้องเคลียร์ให้ชัดหลังคลุมเครือมาตั้งแต่ปี 2565


นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ ได้ทำรายงานข้อมูลภาพรวมกรณีคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่พิพากษาเมื่อ 1 มิ.ย. 60 ให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์อื่น ซึ่งส่งผลกระทบให้ต้องหยุดการผลิตปิโตรเลียม 7 บริษัทให้กับ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงานแล้ว โดยมี 2 แนวทางที่จะเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว

“กรมฯ ได้เสนอทางเลือกในการแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางปกติที่มีอยู่ให้ท่านรัฐมนตรีดำเนินการว่าจะสามารถใช้แนวทางใดแก้ไขได้ แต่กรณีการใช้คำสั่ง ม.44 นั้นจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะนำมาพิจารณา อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าคำสั่งศาลฯ ไม่ได้ระบุให้กรมฯ สั่งให้ผู้ผลิตปิโตรเลียม 7 รายหยุดผลิต แต่ที่กรมฯ ต้องสั่งก็เพื่อไม่ให้มีปัญหาภายหลังเพราะเราไม่มีระเบียบอะไรมารองรับเลย” นายสราวุธกล่าว

สำหรับ 2 แนวทางที่เสนอ รมว.พลังงานเพื่อแก้ไขปัญหา ได้แก่ 1. ให้รัฐมนตรีพลังงานเสนอรายงานปัญหากับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะดำเนินการในขั้นตอนอย่างไร และ 2. คณะกรรมการบริหารแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (บยศ.) ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานร่วม ซึ่งเน้นแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยแนวทางดังกล่าวขึ้นอยู่กับ รมว.พลังงานจะตัดสินใจดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ผลิตปิโตรเลียม 7 รายที่ต้องหยุดผลิตปิโตรเลียมจากการหารือก็พบว่าส่วนใหญ่ต่างเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2556 ที่ทำให้การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่คาบเกี่ยวกับพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ผ่านมาไม่มีความชัดเจน หากรัฐแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้จะส่งผลดีต่อเอกชนมากยิ่งขึ้น

“ระยะยาวแล้วคงจะต้องมีระเบียบหรือกฎกระทรวงออกมารองรับที่จะสามารถให้ใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ในการดำเนินงานได้เพื่อความชัดเจน อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวยืนยันว่าไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงพลังงานแต่อย่างใด แต่ยอมรับว่าอาจจะกระทบต่อรายได้ภาครัฐบ้าง” นายสราวุธกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น