“กฟผ.” เตรียมปรับแผน PDP2015 ใหม่เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนมากขึ้น หลังโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่เลื่อนออกไปอย่างต่ำ 4 ปี เช่นเดียวกับเทพาที่ต้องเลื่อนอย่างต่ำอีก 1 ปี เตรียมนับหนึ่งทำรายงาน EIA-EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ใหม่อีกครั้งตั้งแต่ว่าจ้างที่ปรึกษา หลัง สผ.ตอบหนังสือกลับแนะแนวทางแล้ว
ว่าที่ พ.ต.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยในงานวันสิ่งแวดล้อม กฟผ.ประจำปี 2560 ว่า ขณะนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างการเตรียมปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP-2015) ให้สอดรับกับภาวะปัจจุบันที่ต้องยอมรับว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ที่ต้องเลื่อนไปอีกอย่างต่ำ 4 ปี และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ที่คาดว่าจะเลื่อนจากแผน 1 ปี ขณะเดียวกันยังต้องสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็น 40%
“กฟผ.เองก็เตรียมที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นจาก 500 เมกะวัตต์เป็น 2,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2579 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) หรือคิดเป็น 10% ของแผน ซึ่งเมื่อแผนนี้ปรับก็ต้องปรับแผนPDP ด้วย ซึ่งก็ต้องหารือกับกระทรวงพลังงานในรายละเอียดว่าจะปรับแผนอย่างไร โดยหลักการ กฟผ.ยังต้องการให้คงสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ไม่น้อยกว่า 40-50% เพื่อความมั่นคง ขณะเดียวกันท้ายแผน PDP เดิมกำหนดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ปลายแผน 2 โรง รวม 2,000 เมกะวัตต์ จะกำหนดไว้หรือไม่ซึ่งข้อดีของนิวเคลียร์คือลดภาวะโลกร้อนและค่าไฟถูก” ว่าที่ พ.ต.อนุชาตกล่าว
สำหรับความคืบหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน จากกรณีที่ กฟผ.ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.ถึงแนวทางการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ. กระบี่ และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ส่วนของท่าเรือ และ สผ.ได้ทำหนังสือตอบกลับแล้วถึงแนวทางการดำเนินการหลักๆ ที่ต้องให้นำความเห็นของคณะกรรมการไตรภาคีเข้าไปประกอบการดำเนินงานและการสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ทำให้ กฟผ.ต้องเริ่มกระบวนการจัดทำใหม่หมด
“กฟผ.ต้องเริ่มกระบวนการจัดทำ EIA และ EHIA ใหม่หมด ซึ่งจะต้องเริ่มตั้งแต่การเตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายงาน EIA -EHIA การเปิดรับฟังความเห็น (ค.1 ค.2 และ ค.3) ฯลฯ คาดว่าจะใช้เวลารวม 2 ปีทำให้การผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าระบบ (COD) จากเดิมปี 2562 จะเลื่อนไปเป็นปี 2566-67 ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ยูนิตแรกที่จะต้อง COD ปี 2564 ก็คงต้องเลื่อนออกไปเช่นกันเป็นปี 2565 เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนทำ EHIA” ว่าที่ พ.ต.อนุชาตกล่าว
สำหรับงานวันสิ่งแวดล้อม กฟผ.ประจำปี 2560 “ภารกิจสิ่งแวดล้อม กฟผ. ในยุค 4.0” กฟผ.ได้แสดงจุดยืนในการเป็นผู้นำการอนุรักษ์พลังานและรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างสังคมไทยที่ยั่งยืน และพร้อมที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนมากขึ้นโดยเฉพาะการมุ่งเน้นการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ซึ่งได้นำร่องบางส่วนแล้ว ส่วนการติดตั้งบนพื้นดินก็จะดำเนินการในพื้นที่ของ กฟผ.เช่นกัน ดังนั้นจะไม่ได้เป็นการแย่งพื้นที่ของภาคเกษตรและเอกชนแต่อย่างใด
“แม้ว่าเราจะมีพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือก็จำเป็นที่ต้องมีโรงไฟฟ้าหลักเพื่อความมั่นคงของระบบ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งยอมรับว่ากรณีที่โรงไฟฟ้าถ่านหินชะลอออกไปมีความน่าเป็นห่วงถึงความมั่นคง” ว่าที่ พ.ต.อนุชาตกล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานวันสิ่งแวดล้อมของ กฟผ.ยังได้จัดแสดงนิทรรศการด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม กฟผ.และนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในกิจการไฟฟ้าในอนาคต เช่น โครงการนำร่องระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) จ.แม่ฮ่องสอน นโยบายพลังงาน 4.0 การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของ กฟผ. ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนา “ภารกิจ กฟผ. ความมั่นคงทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมในยุค 4.0” เพื่อแสดงจุดยืนของ กฟผ.ในการเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์พลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างสังคมไทยที่ยั่งยืน