xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำเกาหลีใต้ประกาศระงับก่อสร้าง “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” แห่งใหม่ๆ ทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี มุน แจอิน แห่งเกาหลีใต้ กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในพิธีปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ โครี-1 ซึ่งเป็นเตาปฏิกรณ์หน่วยแรกของประเทศ ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โครี อำเภอกีจัง (Gijang) เมืองปูซาน วันนี้ (19 มิ.ย.)
เอเอฟพี - ประธานาธิบดี มุน แจอิน แห่งเกาหลีใต้ ประกาศล้มเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ๆ ทั่วประเทศ วันนี้ (19 มิ.ย.) พร้อมให้คำมั่นจะผลักดันเศรษฐกิจแดนโสมขาวที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชียให้เติบโตก้าวหน้าต่อไปได้ โดยไม่พึ่งพาพลังงานปรมาณู

มุน ซึ่งชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายเมื่อเดือน พ.ค. เคยให้สัญญาไว้ขณะหาเสียงว่าจะค่อยๆ ลดการใช้พลังงานปรมาณู และหันมาส่งเสริมพลังงานที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานลม เป็นต้น

วิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิเมื่อปี 2011 ทำให้ชาวเกาหลีใต้เริ่มหวาดกลัวภัยรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศ ซึ่งมีอายุการใช้งานเก่าแก่ยาวนาน

“เราจะหันหลังให้กับการพึ่งพาพลังงานปรมาณูเป็นหลัก และเปิดประตูสู่ยุคใหม่ที่พลังงานนิวเคลียร์จะเป็นเพียงอดีต” มุน กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในพิธีปิดการใช้งานเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ โครี-1 ซึ่งเป็นเตาปฏิกรณ์หน่วยแรกของประเทศ

“ผมจะยกเลิกการเตรียมก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งใหม่ๆ ส่วนที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบันก็จะไม่มีการต่ออายุอีก”

มุน เตือนว่า เตาปฏิกรณ์หลายหน่วยตั้งอยู่ใกล้ชุมชนที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น และหากเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์หลอมละลายก็จะ “ส่งผลกระทบรุนแรงชนิดที่ไม่อาจคาดเดาได้”

“เกาหลีใต้ไม่ใช่ประเทศที่ปลอดภัยจากแผ่นดินไหว และอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่เกิดจากแผ่นดินไหวก็อาจจะก่อหายนะที่ร้ายแรงได้”

เกาหลีใต้มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใช้งานอยู่ 25 หน่วย ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนความต้องการในประเทศได้ราว 30 เปอร์เซ็นต์ ทว่า ส่วนใหญ่จะทยอยหมดอายุการใช้งานในช่วงปี 2020-2030 และขึ้นอยู่กับ มุน ว่าจะตัดสินใจต่ออายุการใช้งานเตาปฏิกรณ์บางส่วนออกไปอีกหรือไม่

มุน เคยประกาศว่า จะพยายามปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ให้หมดทั้งประเทศ แม้ต้องใช้เวลาหลายสิบปีก็ตาม ขณะที่ข่าวการทุจริตคอร์รัปชันภายในองค์กรนิวเคลียร์เมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมถึงแผ่นดินไหวที่เกิดอย่างต่อเนื่องในปีที่แล้ว ก็ยิ่งทำให้ชาวโสมขาวไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

มุน ยังรับปากวันนี้ (19) ว่า จะปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งหนึ่งทางตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถูกรัฐบาลในอดีตต่ออายุการใช้งาน 30 ปี ให้ยืดยาวออกไปอีก 1 ทศวรรษ จนถึงปี 2022 และเตรียมนำเสนอ “นโยบายยุคหลังถ่านหิน” (post-coal policy) ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อลดมลพิษในอากาศ เนื่องจากปัจจุบันเกาหลีใต้จัดเป็นประเทศที่มีค่าอนุภาคฝุ่นละอองในอากาศสูงที่สุดในกลุ่มสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งตอบสนองความต้องการใช้พลังงานถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ จะทำให้คนเกาหลีใต้ต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นลิบลิ่ว

กำลังโหลดความคิดเห็น