ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การที่ “บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. สั่งการกระทรวงมหาดไทยและกองทัพภาคที่ 4 ตรวจสอบโครงการเสาไฟโซลาร์เซลล์มูลค่ากว่า 1,000 ล้าน ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งติดตั้งทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังประชาชนร้องเรียนว่าเสาไฟโซลาร์เซลล์จำนวนมากมีปัญหาชำรุด ติดๆ ดับๆ และดับสนิท ถือเป็นเรื่องที่ต้องจับตา เพราะถ้าไม่มีมูลความจริง เรื่องคงไม่ขยายวงจากภาคใต้สู่ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ โครงการเสาไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ “เสาไฟโซลาร์เซลล์” เป็นโครงการจัดซื้องบประมาณกว่าพันล้านของ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อทำการติดตั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 14,318 จุด ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2557 ต่อเนื่องถึงปี 2559
มูลค่างบประมาณทั้งจัดซื้อและติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1,011,916,500 บาท
โครงการดังกล่าว “ซอยงบ” ออกเป็นโครงการย่อยๆ ทั้งสิ้น 6 โครงการ ประกอบด้วย
1. โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งชุดโคมส่องสว่างถนนแบบโซล่าร์เซลล์ในพื้นที่เพื่อความปลอดภัยของประชาชน จำนวน 2,000 ชุด งบประมาณ 126,000,000 บาท
2. โครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าพร้อมโคมส่องสว่างโซล่าเซลล์ในศาสนสถานและสถานที่ฝังศพ เผาศพ จำนวน 3,484 ชุด งบประมาณ 219,492,000 บาท
3. โครงการสนับสนุนการติดตั้งโคมไฟฟ้าส่องสว่างระบบโซล่าร์เซลล์ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,500 ชุด งบประมาณ 94,500,000 บาท
4. โครงการติดตั้งโคมไฟถนนแอลอีดีด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 3,365 ชุด งบประมาณ 212,000,000 บาท
5. โครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมหลอดประหยัดพลังงานชนิดแอลอีดี เพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 4,500 ชุด งบประมาณ 270,000,000 บาท
6. โครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างแบบโซล่าเซลล์ จำนวน 1,555 ชุด งบประมาณ 89,924,500 บาท
โดยวัตถุประสงค์ของโครงการเน้นการสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนในพื้นที่ ติดตั้งไฟส่องสว่างในจุดที่ล่อแหลมลดจุดเสี่ยงต่อการก่อเหตุรุนแรง หรือหากไฟฟ้าดับด้วยฝีมือกลุ่มก่อการร้ายหรือด้วยเหตุประการใดก็ตาม โคมไฟโซลาร์เซลล์จะยังสามารถทำงานได้ รวมทั้ง เพิ่มความปลอดภัยอำนวยการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ฯลฯ
ศอ.บต. ระบุว่าในช่วง 2 ปี หลังจากติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ติดตั้งเสาไฟเลย ทำให้ประชาชนเองกล้าเดินทางสัญจรไปมามากขึ้น จึงถือว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่เผยข้อมูลที่ต่างออกไปว่า หลังทำการติดตั้งโคมไฟโซลาร์เซลล์ได้เพียง 3 เดือน เริ่มทยอยเสียเหลือใช้งานได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ พร้อมมีการร้องเรียนว่าชำรุดใช้งานไม่ได้เป็นจำนวนมาก
ล่าสุด ต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ ศรีสมบัติ นายกเทศมนตรีตำบลปะแต อ.ยะหา จ.ยะลาส่งถึง เลขาฯ ศอ.บต. หลังจากลงพื้นที่สำรวจและตรวจสอบเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในพื้นที่เทศบาลตำบลปะแต พบว่า มีเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ทั้งหมด 97 ต้น แต่มีการใช้งานได้จริงเพียง 10 ต้นเท่านั้น
สอดคล้องกับข้อมูลจาก องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ที่รายงานไปยัง ศอ.บต. เช่นกันว่า เสาไฟโซลาร์เซลล์ ที่ถูกนำไปติดตั้งในพื้นที่ภาคใต้นั้นมีปัญหาชำรุด ติดๆ ดับๆ บ้างดับสนิทมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว รวมทั้งการลงพื้นที่ตรวจสอบของสื่อมวลชน พบว่าเสาไฟโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่ไม่สว่าง เป็นเหตุให้พื้นที่บริเวณนั้นมืดสนิท หรือบางส่วนมีลักษณะเสาเอียงไม่มั่นคง
อ้างอิงรายงานข่าวของสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบเอกสารจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กอลำ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เป็นเอกสารที่ ศอ.บต. ส่งให้เมื่อปีที่แล้ว ระบุว่ามอบเสาไฟโซลาร์เซลล์พร้อมอุปกรณ์จำนวนประมาณ 100 ชุดที่ ศอ.บต. อ้างว่าติดตั้งเรียบร้อยในพื้นที่ ให้ อบต.กอลำ รับผิดชอบดูแล และรายงานผลการใช้งานให้ ศอ.บต. ทราบ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายอาหามะ ปูแทน นายก อบต.กอลำ ส่งหนังสือตอบกลับไปว่า ไม่เคยได้รับเสาไฟโซลาร์เซลล์ตามที่ ศอ.บต. อ้างว่านำมาติดตั้งให้แม้แต่ต้นเดียว ซึ่งกลายเป็นอีกเรื่องที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย
ต่อมา ทางผู้รับผิดชอบโครงการ ศอ.บต. ออกมาให้ข้อมูลว่าเสาไฟโซลาร์เซลล์ที่มีปัญหานั้น เพียง 531 จุด จาก 14,318 จุด หรือคิดเป็น 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยชี้แจงถึงสาเหตุหลักของปัญหาว่าเป็นผลจากการถูกมือดีขโมยแบตเตอรี่ สนนราคาลูกละ 8,000 บาท และนำขายในราคาลูกละ 300 บาท
อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2560 ศอ.บต. ยังได้ตั้งงบประมาณสำหรับซ่อมแซมเสาไฟโซลาร์เซลล์ ภายใต้ชื่อ “โครงการซ่อมแซมโคมไฟฟ้าส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยวิธีพิเศษ” วงเงิน 4,248,000 บาท โดยเบื้องต้นจะมีการซ่อมแซม 531 ต้น เฉลี่ยราคาค่าซ่อมต้นละ 8,200 บาท
โดย ศอ.บต. จัดจ้าง บริษัท ไฮโตร เอเนอร์จี คอนเวอร์ชั่น จำกัด ให้ซ่อมแซมเสาไฟโซลาร์เซลล์ทั้งหมด ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่ถูกตั้งข้อเกตถึงความไม่ชอบมาพากล เป็นบริษัทที่ขาดประสบการณ์เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ ตามรายงานของสำนักข่าวอิศรา เปิดเผยว่า บริษัท ไฮโตร เอเนอร์จีฯ จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อปี 2555 ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท ประกอบกิจการเกี่ยวกับงานวิศวกรรม และการให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้อง ที่ตั้งบริษัทตามที่แจ้งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีลักษณะเป็นบ้านสำหรับอยู่อาศัย ไม่พบอุปกรณ์สำหรับติดตั้งหรือซ่อมแซมเสาไฟโซลาร์เซลล์แต่ประการใด
นอกจากนี้ ยังปรากฏเอกสารหลุดของทาง ศอ.บต. เมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เรื่องจัดซื้อจัดจ้างโครงการติดตั้งระบบไฟส่องสว่างแบบโซลาร์เซลล์เพิ่มเติม ในพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี งบประมาณ 12,467,000 บาท แบ่งเป็นติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ ขนาดความสูง 6 เมตร จำนวน 100 ต้น 5,600,000 บาท และเสาไฟโซลาร์เซลล์ ขนาดความสูง 9 เมตร จำนวน 109 ต้น เป็นเงิน 6,867,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาเสาไฟโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาฯ ศอ.บต. เปิดใจต่อข้อครหาที่สื่อมวลชนต่างพากันขุดคุ้ย ความว่า
“เราก็กลัวเกิดคำครหา นินทา ทุกอย่าง ทุกโครงการที่ ศอ.บต. ดำเนินการ มีการลงประกาศราคากลาง ข้อมูลทุกอย่าง ลงหน้าเว็บไซต์ ศอ.บต. ซึ่งเราจะไม่ลงก็ได้ แต่เพื่อความโปร่งใสมีการประกาศอย่างชัดเจน และเราก็ไม่ได้เลือกว่า จะเอาบริษัทนี้มารับเหมางาน แต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างบริษัทรับเหมา มีการตรวจสอบและจัดจ้างอย่างถูกต้อง ซึ่งทุกกระบวนการมีกรรมการพิจารณาด้วย”
สำหรับปมเสาไฟโซลาร์เซลล์ชายแดนใต้พังหลายจุด ความคืบหน้าล่าสุด บิ๊กตู่ได้เพียงสั่งการกระทรวงมหาดไทยและกองทัพภาคที่ 4 ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่เอกสารสัญญา สาเหตุส่วนที่ชำรุด การดำเนินการซ่อมแซม ฯลฯ ส่วนทาง ศอ.บต. ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกประเด็นที่ร้อนแรงไม่แพ้กันและต้องเร่งตรวจสอบไม่แพ้กัน นั่นคือ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 หรือ “โซลาร์ฟาร์ม” ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) รวม 100 เมกะวัตต์ สัญญา 25 ปี แบ่งเป็น 2 โครงการ สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตเชียงใหม่ พื้นที่ตั้งโครงการ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน 5 เมกะวัตต์ และศูนย์ฝึกอบรมและนันทนาการ จ.กาญจนบุรี พื้นที่ตั้งโครงการ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี 5 เมกะวัตต์
เพราะงานนี้ บริษัทเอกชนผ่านการคัดเลือกร่วมลงทุนรอบสุดท้าย ปรากฏชื่อ “นายทหารเกษียณราชการ เครือญาติ บิ๊ก คสช.” ที่เข้ามานั่งเก้าอี้กรรมการหมาดๆ ซึ่งเครือข่ายภาคประชาชนได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ตรวจสอบเรื่องปมที่ดินเอกชนที่นำมาสร้างโซลาร์ฟาร์มดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แน่นอน คงต้องติดตามทั้งสองเรื่องอย่างใกล้ชิดว่า สุดท้ายจะลงเอยอย่างไร