ยะลา - เลขาฯ ศอ.บต.แถลงข่าวชี้แจง กรณีเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์โครงการของ ศอ.บต.มีปัญหา ยอมรับพบปัญหาโจรกรรมแบตเตอรี่สำรองไฟหายไปเป็นจำนวนมาก และปัญหาเทคนิค จนส่งผลให้ใช้การไม่ได้ พร้อมสั่งเร่งดำเนินการซ่อมแซมแล้ว
วันนี้ (9 มิ.ย.) ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงกรณีการนำเสนอข่าวของสื่อบางสื่อว่า โซลาร์เซลล์ไฟส่องสว่างของ ศอ.บต. มีปัญหามาก และสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนในพื้นที่ว่า ทาง ศอ.บต.ได้ตรวจสอบพบว่า แบตเตอรี่ไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ ลูกละ 8,000 บาท ถูกขโมยหายไปจำนวนหลายร้อยลูก
ซึ่งเท่าที่ติดตามจับกุมได้พบว่า ผู้ที่ขโมยไปบางรายนำไปขายร้านรับซื้อของเก่าในราคาลูกละ 300 บาท ซึ่งขณะนี้ ศอ.บต.ได้แจ้งไปยังจังหวัดให้ทำการตรวจสอบร้านรับซื้อของเก่าทั้งหมด ถ้ามีแบตเตอรี่ของ ศอ.บต.ก็จะดำเนินคดีทันที ซึ่งขณะนี้สามารถจับกุมคนร้ายที่ขโมยแบตเตอรี่ไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ ศอ.บต.ได้แล้ว 2 ราย เป็นชาว ต.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา จำนวน 1 ราย ซึ่งผู้ต้องหาได้ขโมยแบตเตอรี่หลายที่ ศาลตัดสินจำคุก 12 ปี แต่ให้การรับสารภาพ จึงลดโทษจำคุก 6 ปี อีกรายเป็นชาวบ้าน อ.รามัน จ.ยะลา ศาลตัดสินจำคุก 1 ปีครึ่ง
“นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเรื่องอุปกรณ์ที่ผลิต เช่น อะคริลิกที่นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นวัสดุอุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน แต่สภาพอากาศบ้านเรามีความชื้นสูง จึงส่งผลต่อการกักเก็บไฟของแบตเตอรี่ ทำให้เสาไฟส่องสว่างติดๆ ดับๆ ทาง ศอ.บต.ได้แจ้งข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นต่างๆ ให้บริษัทผู้รับเหมาแล้ว ตอนนี้กำลังดำเนินการซ่อมแซมอยู่ ซึ่งก็กังวลจึงให้ถอดแบตเตอรี่ทั้งหมดออกมาตรวจสอบ และใช้สายไฟเบอร์ออปติกจัดการฝังดิน ป้องกันการถูกขโมยอีก ซึ่งไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556-2557 ที่เลยประกันสัญญาแล้วพบว่ามีปัญหานั้น ทาง ศอ.บต.ก็ได้ดำเนินการจัดการอย่างเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องประชาชนในช่วงเดือนรอมฎอนที่ต้องปฏิบัติภารกิจในตอนกลางคืน มีความจำเป็นต้องใช้แสงสว่างมาก ศอ.บต.ก็ได้ดำเนินการเร่งซ่อมให้แล้ว โดยตั้งงบซ่อมแซมกว่า 4 ล้านบาท เพื่อให้ไฟที่ยังดับอยู่ สามารถกลับมาส่องสว่าง โดยเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการที่ถูกต้องทุกประการ ไม่มีอะไรที่เป็นเบื้องหน้าเบื้องหลัง” เลขาธิการศอ.บต. กล่าว
นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์เป็นไปตามความต้องการเดิมของชาวบ้านอยู่แล้ว ซึ่งหลังจากที่ ศอ.บต.ได้ติดตั้งไฟส่องสว่างดังกล่าวตามสถานที่ต่างๆของชุมชน เช่น กุโบร์ หรือสุสานของพี่น้องชาวไทยมุสลิม ก็ทำให้สามารถฝังศพในตอนกลางคืนได้ รวมถึงศาสนสถาน วัดของพี่น้องชาวไทยพุทธที่มีค่าไฟแพง และสถานที่สาธารณะ ที่จังหวัดต้องการ ศอ.บต.ก็ได้ดำเนินการจัดตั้งให้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องในพื้นที่ และถึงแม้โครงการไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ที่ดำเนินการมาทั้งหมดนี้จะใช้วิธีพิเศษ แต่มีผู้ลงนามสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้การรับรอง และมีการจัดหาบริษัทรับเหมางานอย่างถูกต้อง และมีกรรมการพิจารณาร่วมด้วย เพื่อไม่ให้เกิดคำครหา ทั้งนี้ ทุกโครงการที่ ศอ.บต.ดำเนินการมีการลงประกาศราคากลาง ข้อมูลทุกอย่างได้ประกาศให้ประชาชนได้รับทราบหน้าเว็บไซต์ ศอ.บต. เพื่อความโปร่งใส ชัดเจน มีการตรวจสอบ และจัดจ้างอย่างถูกต้อง ซึ่งทุกกระบวนการมีคณะกรรมการพิจารณาทุกขั้นตอน
มีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับโครงการเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์นี้ ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2557 ต่อเนื่องถึงปี 2559 มีทั้งสิ้น 6 โครงการด้วยกัน รวมทั้งสิ้น 16,404 ชุด งบประมาณรวมทั้งสิ้น 1,011,916,500 บาท โดยมีบริษัทเอกชนที่เข้ามารับดำเนินการทั้งสิ้น 4 บริษัท ได้แก่ บริษัทดวงสรารัศ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด, บริษัทสแสงมิตรอิเลคทริค, หจก.สุนทรเทคโนโลยี และ หจก.เจเจออร์เทคโนโลยี
ซึ่งแบ่งเป็น 1.โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งชุดโคมส่องสว่างถนนแบบโซลาร์เซลล์ ในพื้นที่เพื่อความปลอดภัยของประชาชน จำนวน 2,000 ชุด งบประมาณ 126,000,000 บาท 2.โครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าพร้อมโคมส่องสว่างโซลาร์เซลล์ ในศาสนสถาน และสถานที่ฝังศพ เผาศพ จำนวน 3,484 ชุด งบประมาณ 219,492,000 บาท 3.โครงการสนับสนุนการติดตั้งโคมไฟฟ้าส่องสว่างระบบโซลาร์เซลล์ ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,500 ชุด งบประมาณ 94,500,000 บาท 4.โครงการติดตั้งโคมไฟถนนแอลอีดีด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 3,365 ชุด งบประมาณ 212,000,000 บาท 5.โครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมหลอดประหยัดพลังงานชนิดแอลอีดี เพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 4,500 ชุด งบประมาณ 270,000,000 บาท และ 6.โครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างแบบโซลาร์เซลล์ จำนวน 1,555 ชุด งบประมาณ 89,924,500 บาท
ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่ ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่พบปัญหาเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ ทาง หจก.สุนทรเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าดำเนินการ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ของบริษัทเข้าไปตรวจสอบ และซ่อมแซมเสาไฟฟ้าที่มีปัญหา ให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติอีกครั้ง