นราธิวาส - ศาลสั่งจำคุกแล้ว 2 หัวขโมยลักแบตเตอรี่ไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ ทั้งใน อ.รามัน และ อ.เมือง จ.ยะลา นำขายร้านรับซื้อของเก่า ด้าน “ศุภณัฐ สิรันทวิเนติ” เลขาธิการ ศอ.บต.ยันขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส
วันนี้ (7 มิ.ย.) นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวถึงกรณีที่สื่อมวลชนบางสำนักนำเสนอข่าวโซลาร์เซลล์ไฟส่องสว่างของ ศอ.บต.ว่า มีปัญหามากนั้น จากการตรวจสอบพบว่า สาเหตุเนื่องจาก หนึ่ง แบตเตอรี่ไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ ลูกละ 8,000 บาท ถูกขโมยไปขายในราคาลูกละ 300 บาท ซึ่งขณะนี้ ศอ.บต.ได้แจ้งไปยังจังหวัดให้ทำการตรวจสอบร้านรับซื้อของเก่าทั้งหมด ถ้ามีแบตเตอรี่ของ ศอ.บต.ก็จะดำเนินคดีทันที
ประการที่สอง สามารถจับกุมคนร้ายที่ขโมยแบตเตอรี่ไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ของ ศอ.บต.ได้แล้ว 2 ราย โดยที่ ต.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา เนื่องจากพบผู้ต้องหาขโมยหลายที่ ศาลจึงตัดสินให้จำคุก 12 ปี แต่ให้การรับสารภาพจึงลดโทษจำคุก 6 ปี และที่ อ.รามัน จ.ยะลา อีก 1 ราย จำคุก 1 ปีครึ่ง ส่วนที่เหลือนั้นกำลังดำเนินการอยู่
นอกจากนี้ ยังพบว่าอุปกรณ์ที่ผลิต เช่น อะคริลิก นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานสูงอยู่แล้ว แต่สภาพอากาศบ้านเรามีความชื้นสูง จึงส่งผลต่อการกักเก็บไฟของแบตเตอรี่ ทำให้เสาไฟส่องสว่างติดๆ ดับๆ
“ทาง ศอ.บต.ได้แจ้งข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นต่างๆ ให้บริษัทผู้รับเหมาแล้ว ตอนนี้กำลังดำเนินการซ่อมแซ่มอยู่ ซึ่งผมก็กังวลจึงให้ถอดแบตเตอรี่ทั้งหมดออกมาตรวจสอบ และใช้สายไฟเบอร์ออปติกจัดการฝังดิน ป้องกันการถูกขโมยอีก”
นายศุภณัฐ กล่าวและว่า ไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556-2557 ที่เลยประกันสัญญาแล้วพบว่ามีปัญหานั้น ทาง ศอ.บต.ก็ได้ดำเนินการจัดการอย่างเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องประชาชนในช่วงเดือนรอมฎอน ที่ต้องปฏิบัติภารกิจในตอนกลางคืน ซึ่งจำเป็นต้องใช้แสงสว่างมาก ศอ.บต.ก็ได้ดำเนินการเร่งซ่อมให้แล้ว
“เราตั้งงบซ่อมแซมทั้งหมด 4 ล้านกว่าบาท เพื่อให้ไฟที่ยังดับอยู่ สามารถกลับมาส่องสว่าง และพี่น้องประชาชนสามารถใช้งานได้ปกติ ทั้งหมดเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการที่ถูกต้องทุกประการ ไม่มีอะไรที่เป็นเบื้องหน้าเบื้องหลัง”
นายศุภณัฐ กล่าวต่อไปว่า ไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์เป็นไปตามความต้องการเดิมของชาวบ้านอยู่แล้ว ซึ่งหลังจากที่ ศอ.บต.ได้ติดตั้งไฟส่องสว่างดังกล่าวตามสถานที่ต่างๆ ของชุมชน เช่น กุโบร์ หรือสุสานของพี่น้องชาวไทยมุสลิม ก็ทำให้สามารถฝังศพในตอนกลางคืนได้ รวมถึงศาสนสถาน วัดของพี่น้องชาวไทยพุทธที่มีค่าไฟแพง และสถานที่สาธารณะที่จังหวัดต้องการ ศอ.บต.ก็ได้ดำเนินการจัดตั้งให้
“สถานที่ต่างๆ ในชุมชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังไม่มีแสงสว่าง ต้องการแสงสว่าง เรา ศอ.บต.ก็ไปติดตั้งให้ ซึ่งก็เป็นไปตามความต้องการของชาวบ้าน และก็เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชาวบ้าน ไม่ใช่ใครที่ไหน”
นายศุภณัฐ ยังกล่าวว่า แม้โครงการไฟส่องสว่างโซลาร์เซลล์ที่ดำเนินการมาทั้งหมดนั้นจะใช้วิธีพิเศษ แต่โดยผู้ลงนามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างนั้น ก็มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้การรับรอง และการจ้างบริษัทรับเหมางานนั้น แม้ว่างานดังกล่าวจะเป็นกรณีเร่งด่วน แต่เพื่อให้ได้มาอย่างโปร่งใสก็มีการจัดหาบริษัทรับเหมางานอย่างถูกต้อง และมีกรรมการพิจารณาร่วมด้วย
“เราก็กลัวเกิดคำครหานินทา ทุกอย่างทุกโครงการที่ ศอ.บต.ดำเนินการมีการลงประกาศราคากลาง ข้อมูลทุกอย่างลงหน้าเว็บไซต์ ศอ.บต. ซึ่งเราจะไม่ลงก็ได้ แต่เพื่อความโปร่งใสมีการประกาศอย่างชัดเจน และเราก็ไม่ได้เลือกว่าจะเอาบริษัทนี้มารับเหมางาน แต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างบริษัทรับเหมามีการตรวจสอบ และจัดจ้างอย่างถูกต้อง ซึ่งทุกกระบวนการมีกรรมการพิจารณาด้วย” นายศุภณัฐ กล่าวทิ้งท้าย