อดีต รมว.คลัง ชำแหละบทสัมภาษณ์อธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ เกี่ยวกับการดำเนินการแปลงเอราวัณ/บงกช สังหรณ์ใจอาจจะไม่เสนอให้รัฐใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต คาดให้เปิดสัมปทานใหม่แทน มีอภินิหารเอื้อผู้รับสัมปทานเดิม เลี่ยงให้ไม่ผิดกฎหมาย ปลุกปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลและ รธน.อย่างเคร่งครัด
วันนี้ (7 มิ.ย.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ถึงกรณีนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ที่ให้สัมภาษณ์เป็นข่าวในสื่อไทยโพสต์เกี่ยวกับการดำเนินการแปลงเอราวัณ/บงกช หลังสัมปทานปัจจุบันหมดอายุ โดยระบุว่า อ่านระหว่างบรรทัดเห็นว่าเป็นการเผยความในใจว่า กรมฯ อาจจะไม่เสนอให้รัฐบาลใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ที่ได้ออกแรงยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ไว้แล้ว แต่ตนสังหรณ์ว่า สำหรับเอราวัณ/บงกช กรมฯ อาจจะพยายามเสนอรัฐบาล ให้เปิดสัมปทานใหม่แทน โดยอาจจะมีอภินิหารเหนือความคาดหมายที่จะทำให้ผู้รับสัมปทานเดิมได้รับสัมปทานใหม่อีกครั้งหนึ่ง และอาจจะอ้างว่านี่ไม่ใช่การต่ออายุสัมปทาน แต่เป็นสัมปทานใหม่ จึงไม่ผิดกฎหมาย
นายธีระชัยให้เหตุผลในการสังหรณ์อย่างนี้ว่า เนื่องจากนายวีระศักดิ์แพลมข้อมูลบ่งชี้ ดังต่อไปนี้
1. ท้ายหน้า 1 หลุดปากออกมาว่า “ทั้งนี้ เราก็เปิดกว้างที่จะให้เอกชนรายอื่นๆ ที่อยากเข้ามาทำตรงนี้ร่วมการประมูลด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หลักการคัดเลือกของเราก็ต้องดูว่าใครที่พร้อมมากที่สุดในการรับสัมปทาน” !!! โดยระบุว่าตรงนี้แพลมสองประเด็น
ประเด็นที่หนึ่ง การคัดเลือกส่อเค้าว่าจะไม่ใช่วิธีประมูลโปร่งใสแบบคลื่นโทรศัพท์ 4 จี แต่จะเน้นการใช้ดุลพินิจและอาจจะใช้วิธีให้คะแนนผู้ที่สนใจ แทนการประมูลโปร่งใส อาจจะด้วยวิธีชี้เป็นชี้ตาย ด้วยนิ้วของข้าราชการ เพื่อตัดสินฟันธงกันเองว่า ใครเป็นผู้ที่มี “ความพร้อม” มากที่สุด ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้ในการให้สัมปทานที่ผ่านมา ทั้งที่มีคนเคยทักท้วงว่า กระบวนการที่ใช้ดุลพินิจข้าราชการนั้น ในอดีตที่ผ่านมา เคยมีพฤติกรรมที่ไม่โปร่งใส และได้มีการร้องเรียนให้องค์กรอิสระตรวจสอบ
ประเด็นที่สอง หลุดคำว่า “รับสัมปทาน” ออกมาอย่างชัดแจ้ง
2. ท้ายหน้า 1 ต่อหน้า 2 ระบุว่า “โดยเอกชนเหล่านั้น อยากให้เป็นผู้ที่เคยมีประสบการณ์ และเคยทำอยู่ในประเทศไทยแล้วจริงๆ เท่านั้น เพราะว่าจะเข้าใจและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากการแข่งขันด้านราคา แม้จะมีเอกชนรายใหม่ของจีนและตะวันออกกลางให้ความสนใจเข้าร่วมประมูล แต่หากกำหนดรูปแบบจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) ยากเกินไป ก็อาจจะไม่จูงใจให้เข้าร่วม” โดยระบุว่าตรงนี้แพลมอีก 3 ประเด็น
ประเด็นที่สาม คำว่า ต้องเป็นผู้ที่เคยมีประสบการณ์ และเคยทำอยู่ในประเทศไทยแล้วจริงๆ เท่านั้น ทำให้ตนสงสัย และต้องติดตามดูว่า เป็นการจ้องเตรียมพร้อมที่จะมีการพลิกแพลง เพื่อให้น้ำหนักแก่ผู้รับสัมปทานเดิม หรือไม่
ประเด็นที่สี่ การอ้างว่า ต้องเน้นการมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากการแข่งขันด้านราคา เป็นการแสดงจุดยืนว่าจะไม่ใช้วิธีประมูลโปร่งใสแบบคลื่นโทรศัพท์ 4 จี หรือไม่ พูดง่ายๆ จะเอาปัจจัยผลประโยชน์ในด้านตัวเงินให้แก่ประเทศเป็นรอง แต่ปัจจัยข้ออ้างเรื่องความมั่นคง และข้อกังวลอื่นๆ สารพัด จะเป็นหลัก ใช่หรือไม่
ประเด็นที่ห้า การอ้างว่า ถ้าหากกำหนดเงื่อนไขที่ยากเกินไป ก็อาจจะไม่จูงใจให้เอกชนรายใหม่เข้าร่วมประมูล ทำให้ตนสงสัย และผมต้องติดตามดูว่า เป็นการจ้องเตรียมที่จะกีดกันเอกชนรายใหม่จากจีน หรือประเทศอื่น หรือไม่ เพราะการที่กรมฯ ตั้งป้อมตั้งแต่อยู่ในมุ้งว่า เอกชนรายใหม่ของจีนและตะวันออกกลางจะไม่สามารถทำงานในอ่าวไทยได้ เป็นเรื่องที่แปลกประหลาด ทั้งที่การผลิตในอ่าวไทย ไม่ใช่บนดาวอังคาร ไม่ได้มีสภาพพิเศษอะไรที่แตกต่าง เว้นแต่ข้าราชการไทยอาจจะต้องการจะเอาใจสหรัฐ เพื่อกีดกันจีนออกไปจากอ่าวไทย ทั้งที่บริษัทเหล่านี้ทำการผลิตอยู่ทั่วโลก ทั้งที่ กรมฯ สามารถกำหนดอัตราการผลิตขั้นต่ำที่เหมาะสมได้ และทั้งที่อาจจะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย
3. หน้า 2 ระบุว่า “ตอนนี้ยังไม่มีการสรุปว่าจะใช้แบบใดในแหล่งไหน แต่เบื้องต้นได้มีการจ้างบริษัทเอกชนไปช่วยศึกษาและรวบรวมข้อมูลว่าการขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียมทุกแห่งบนโลกนี้ ส่วนใหญ่แล้วใช้รูปแบบใดในการดำเนินการเพื่อที่จะนำข้อมูลต่างๆ มาเปรียบเทียบและปรับใช้กับประเทศไทยได้ ...ดูอย่างนอร์เวย์ เขาเลือกใช้ระบบสัมปทานมายาวนานกว่า 40 ปี โดยไม่เปลี่ยนรูปแบบเลย...” โดยระบุว่าเป็นการแพลมว่า
ประเด็นที่หก จะมีการอ้างเปรียบเทียบประเทศโน้น ประเทศนี้ เพื่อใช้ระบบสัมปทาน หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ ผมเคยตั้งข้อสังเกตุไว้ว่า ประเทศที่ใข้ระบบสัมปทานยาวนานไม่เปลี่ยนแปลงนั้น จะมี 2 กลุ่ม
กลุ่มที่หนึ่ง เป็นประเทศที่มีธรรมาภิบาลสูงทั้งในรูปแบบและเนื้อหาข้าราชการมีธรรมาภิบาลสูง มีความซื่อตรงชัดเจน มีแต่ประวัติความโปร่งใส การตรวจสอบโดยสื่อมวลชนและภาคประชาชนเข้ม จึงทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ ว่าทำงานตรงไปตรงมา ซึ่งผมเห็นว่าประเทศไทย ยังไม่เข้าลักษณะนี้
กลุ่มที่สอง เป็นประเทศที่ไม่เน้นรูปแบบธรรมาภิบาล ปกครองโดยราชวงศ์ สุลต่าน เชค ที่ให้เครือญาติเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการคัดเลือก จึงไว้ใจได้
นายธีระชัยระบุว่า ดังนั้นตนจะคอยเฝ้าดูลางสังหรณ์ของตนเอง ประเทศจะไม่ได้ประโยชน์สูงสุดหรือไม่ กระบวนการทำงานจะเลือกที่รักมักที่ชังหรือไม่ จะเปิดช่องให้มีการหาประโยชน์ส่วนตนหรือไม่ สังหรณ์เหล่านี้จะเป็นจริงหรือไม่ ในการทำงานเรื่องนี้ รัฐบาลจะเน้นธรรมาภิบาลอย่างแท้จริงหรือไม่ พร้อมทั้งทิ้งทายว่า บทความนี้มีวัตถุประสงค์จะให้ข้อคิดทางวิชาการแก่ทางราชการ เพื่อเตือนให้ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลและรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดเป็นสำคัญ