ประธาน กรธ.เห็นด้วยโละ กกต.ยกชุด เชื่อไม่กระทบองค์กรอื่น อ้างถูกรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงมากสุดจึงต้องเซตซีโร่ โวเป็นประโยชน์จัดเลือกตั้ง ขจัดปัญหากรรมการทยอยหมดวาระ ยันสรรหาใหม่ไม่กระทบโรดแมป ส่อเมินใช้กับ ป.ป.ช.ด้วย อ้างปลาสองน้ำหมายถึงที่มาต่างกันสิ้นเชิง บอกถ้าจะปฏิรูปก็ต้องยอมเจ็บกันบ้าง แนะเปิด รธน.ใหม่สางปม 9 รมต.
วันนี้ (7 มิ.ย.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงชี้แจงกรณีคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ กกต.ปัจจุบัน พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะหลังประกาศใช้กฎหมาย หรือเซตซีโร่ ว่าในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กรรมาธิการในสัดส่วน กรธ.เสนอว่า หากจะพิจารณาต้องหาทางออกทุกทางซึ่งมี 3 ทาง คือ การเซตซีโร่เลือกใหม่ทั้งหมด การให้คนที่มีคุณสมบัติดำรงตำแหน่งต่อไป และการให้ กกต.เดิมดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระตามที่มีผู้แปรญัตติ จนที่สุดแล้วที่ประชุมตกลงกันเลือกแนวทางแรกคือการเซตซีโร่ ซึ่งทาง กรธ.ก็เห็นด้วยและคิดว่ามีเหตุผลสำคัญพอโดยไม่กระทบต่อองค์กรอื่นๆ
นายมีชัยชี้แจงว่า 5 เหตุผลที่ต้องเซตซีโร่ กกต.โดยไม่กระทบต่อองค์กรอื่น ด้วยเหตุที่เป็นองค์กรอิสระองค์กรเดียวที่มีความเปลี่ยนแปลงจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 มากที่สุดในบรรดาทุกองค์กร คือ 1. เรื่องจำนวนจาก 5 เป็น 7 คน 2. เดิม กกต.ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติไว้ชัดเจนเหมือนกับองค์กรอิสระอื่น แต่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดคุณสมบัติและสัดส่วนทั้งจากผู้เชี่ยวชาญและศาลไว้ชัดเจน 3. อำนาจหน้าที่สั่งการของ กกต.ที่สูงขึ้น 4. วิธีการทำงานของ กกต.ที่เปลี่ยนไป จากเชิงรับเป็นเชิงรุก ไม่ต้องรอให้มีการร้องเรียน และ 5. กลไกเครื่องมือของ กกต.ที่เปลี่ยนไป จาก กกต.จังหวัด เป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นข้อเสนอเซตซีโร่จึงเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด ดีมากกว่าที่ กรธ.เสนอไป กรธ. จึงไม่มีข้อขัดข้อง และหากจะโทษว่า กรธ.เปลี่ยนใจก็สามารถโทษได้ แต่ท้ายสุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับ สนช. หากการเปลี่ยนแปลงมีเหตุผล กรธ.ก็ไม่ขัดข้อง
“ข้อเสนอเซตซีโร่จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเลือกตั้งในวันข้างหน้ามากที่สุด และจะขจัดความยุ่งยากให้เหลือน้อยที่สุด เนื่องจากยังไม่สามารถรู้วันเลือกตั้งได้ ซึ่งระหว่างนี้ กกต.เองก็จะทยอยพ้นจากตำแหน่งไปหลายคน และอาจทำให้การทำงานสะดุด แต่หากให้สรรหาใหม่พร้อมกันทั้ง 7 คน ก็จะไม่ทำให้การทำงานสะดุดลง” นายมีชัยกล่าว
ส่วนข้อสังเกตเรื่องความพยายามลากยาวการจัดการเลือกตั้งด้วยวิธีการเซตซีโร่นั้น นายมีชัยยืนยันว่า การสรรหา กกต.ใหม่จะใช้ระยะเวลาเท่าเดิม ไม่ได้มีผลกระทบตามโรดแมป เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดระยะเวลาไว้ชัดเจน พร้อมย้ำหลักการว่าไม่ได้ให้ กกต.พ้นจากตำแหน่งทันทีที่กฎหมายบังคับใช้ แต่ให้ทำหน้าที่จนกว่า กกต.ใหม่มาทำหน้าที่ ส่วนจะเป็นการเปิดทางให้มีการแทรกแซงองค์กรอิสระโดยการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ทั้งหมดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้น ตนมองว่าโครงสร้างคณะกรรมการสรรหาไม่ได้เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหาร อีกทั้งจะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของที่ประชุม ส่วนเรื่องคุณสมบัติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เหมือนกับ กกต.จะเป็นหลักในการเซตซีโร่เพื่อสรรหาใหม่เหมือนกันได้หรือไม่นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องเรื่องคุณสมบัติ เพราะขึ้นอยู่กับองค์กรอิสระแต่ละองค์กรที่ไม่เหมือนกัน แต่ที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ สนช.
นายมีชัยยังชี้แจงเรื่องที่เปรียบเทียบเป็นปลาสองน้ำว่า หมายถึงที่มาที่ไปของ กกต.ระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับเก่าและฉบับใหม่ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง และตอนนี้อำนาจหน้าที่ต่อการเลือกตั้งต้องเป็นไปอย่างเข้มงวด ส่วน กกต.เดิมที่มีคุณสมบัติตามฉบับใหม่จะต้องพ้นจากตำแหน่ง เพียงว่าเมื่อจะปฏิรูปก็ต้องยอมเจ็บกันบ้าง หรือหาก กกต.จะไปใช้สิทธิฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญก็คงไม่กระทบต่อโรดแมป และรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่ากรรมการองค์กรอิสระจะอยู่หรือจะไป ขึ้นอยู่กับกฎหมายลูกกำหนด และไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกองค์กร เพราะสภาวะแต่ละองค์กรต่างกัน การเซตซีโร่จึงอยู่ในวิสัยที่จะทำได้
สำหรับกรณีที่ กกต.ตั้งคณะกรรมการสอบสวนคำร้องของนายเรีองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการให้ตรวจสอบรัฐมนตรี 9 คน ว่าอาจขาดคุณสมบัติเนื่องจากเข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ถูกมองเป็นเกมตอบโต้ทางการเมืองจาก กกต.หรือไม่นั้น นายมีชัยบอกว่า หากมองเช่นนั้นอาจไม่เป็นธรรมต่อคนทำหน้าที่ที่ทำหน้าที่ตามขอบเขตอำนาจและความสุจริตใจ ส่วนรัฐมนตรีทั้ง 9 คน จะมีสิทธิถือหุ้นในบริษัทเอกชนหรือไม่นั้น ก็ขอให้เปิดรัฐธรรมนูญดูได้ เพราะตามบทเฉพาะกาลก็มีการยกเว้นไว้เงื่อนไขต่างๆ หลายอย่าง