ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เรียกประชุมแก้ปัญหาภาคประชาสังคมชายแดนใต้
วันนี้ (9 มิ.ย.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เป็นประธานการประชุมประสานงานระหว่างผู้แทนพิเศษของรัฐบาล กับกระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงแรงงาน ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงกลาโหม ในศาลาว่าการกลาโหม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของกลุ่มภารกิจงานที่ 3 เรื่องการสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศ และสิทธิมนุษยชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการบูรณาการ
โดยมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ คือ การสร้างความเข้าใจต่อองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ การรวบรวมข้อมูลนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในต่างประเทศ การเสริมสร้างความเข้าใจต่อต่างประเทศ (ประเทศมุสลิม) และการแต่งตั้งผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจ ประจำประเทศมาเลเซีย
ทั้งนี้ มี พล.อ.มณี จันทร์ทิพย์ ผู้แทนพิเศษฯ กลุ่มภารกิจงานที่ 3 พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้แทนพิเศษฯ กลุ่มภารกิจงานที่ 2 คณะที่ปรึกษาหัวหน้าผู้แทนพิเศษฯ พล.อ.สุทัศน์ จารุมณี หัวหน้าสำนักงาน คปต.ส่วนหน้า นายวิทวัส ศรีวิหค รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายวิชัย คงรัตนชาติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สล.คปต.) และผู้แทน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เข้าร่วมประชุม
สืบเนื่องจากการเข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขององค์การระหว่างประเทศ (IGOs) และองค์กรเอกชน (NGOs) จากต่างประเทศจำนวนมาก ตามที่รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการรับรู้ และแก้ไขปัญหาในทุกมิติ ปรากฏว่า มีบางองค์กรเข้ามาดำเนินการในลักษณะที่ขัดแย้งต่อแนวทางของภาครัฐ และเคลื่อนไหวให้ข้อมูลแก่ประชาชนในสิ่งที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล
โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มข้นต่อการดำเนินการตามที่กลไกเดิมได้กำหนดไว้ นั่นคือ กลไกของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแนวทางของภาครัฐต่อองค์การระหว่างประเทศ (IGOs) และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่เกี่ยวข้องต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น การพัฒนาความสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง การเปิดเผยการดำเนินงานที่มีการเคลื่อนไหวและบทบาททางลบต่อรัฐของขององค์การระหว่างประเทศ (IGOs) และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) เป็นต้น
ส่วนประเด็นการรวบรวมข้อมูลนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในต่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อการดูแล และอำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษา พร้อมกับการสร้างความเข้าใจเพื่อป้องกันการดำเนินกิจกรรมของนักศึกษาที่ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐ ดังนั้น การจัดทำฐานข้อมูลนักศึกษาให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์จึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งที่ผ่านมา ศอ.บต.ได้ดำเนินการโดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนข้อมูล พร้อมกับให้นักศึกษาลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ของสถานทูต และสถานกงสุลของไทย และที่ประชุมเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างแรงจูงใจนักศึกษา ก่อนเดินทางให้มีการเตรียมความพร้อมของตนเองในการเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อสร้างอาชีพ หรือได้คุณวุฒิเพื่อศึกษาต่อ
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นหารือถึงการเสริมสร้างความเข้าใจต่อกลุ่มประเทศมุสลิม เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทั้งในระดับรัฐบาล และหน่วยงาน ซึ่งสามารถส่งผลต่อการดูแลให้ความช่วยเหลือนักศึกษา และคนไทยที่พำนักในประเทศนั้น และป้องกันการถูกบ่มเพาะจากกลุ่มที่นิยมความรุนแรงในอนาคต ซึ่งที่ประชุมให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต. ส่งข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และข้อมูลเชิงประจักษ์ต่างๆ ที่ต้องการชี้แจง ตามช่องทางสื่อสารเดิมให้กระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนพิเศษฯ กลุ่มภารกิจงานที่ 3 เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประเทศดังกล่าวต่อไป
สำหรับประเด็นสุดท้าย คือ การแต่งตั้งผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจ ประจำประเทศมาเลเซีย ซึ่งผู้แทนพิเศษฯ มีมติเห็นชอบด้วยนั้น ที่ประชุมวันนี้มีมติให้นำข้อเสนอดังกล่าวส่งคณะทำงานโครงสร้างบุคลากรไทยที่ประจำการในต่างประเทศ ของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อประชุมพิจารณาในวันที่ 19 มิ.ย.60
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ได้กล่าวก่อนปิดการประชุมว่า จากการปฏิบัติของกระทรวงการต่างประเทศ ในการรับคณะ OIC และผู้ชี้ขาดทางศาสนาของอียิปต์ รวมถึงการไปชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่กรุงเจนีวา กระทรวงการต่างประเทศ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า มีความรอบคอบในการใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาด และมีศักยภาพในการรักษาผลโยชน์ของชาติด้วยวิธีทางการทูต จึงขอให้หน่วยในพื้นที่ ทั้งด้านความมั่นคง และการพัฒนา ให้ความร่วมมือต่อกระทรวงการต่างประเทศในการสนับสนุนข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสมัย ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานในการเสริมสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศยิ่งๆ ขึ้นไป