“พพ.” ลงนามร่วม “กรอ.” เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนในโรงงานอุตสาหกรรม เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้เกิดรูปธรรมมากขึ้น “กรอ.” จ่อของบปี 2561 จากกองทุนฯ หนุน 100 ล้าน พร้อมเล็งคลอดเกณฑ์ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม (FEC) เหมือนกรณี BEC
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยภายหลังการลงนาม (MOU) ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการใช้พลังงานทดแทนเพื่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรมที่จะบูรณาการในการร่วมมือในการยกระดับประสิทธิภาพของการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรมให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในสาขาเศรษฐกิจคิดเป็น (36.5%) รองจากภาคขนส่ง และยังมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการใช้พลังงานของประเทศไทย
“กรอ.จะดูแลมาตรฐานด้านความปลอดภัย และหลังจากลงนามจากนี้ไปจะดูเรื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคโรงงานด้วย โดยจะบูรณาการการดำเนินงานดังกล่าวจะประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับ 2. ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน 3. ด้านระบบฐานข้อมูล 4. ด้านการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ และสร้างสรรค์นวัตกรรม และ 5. ด้านพัฒนาบุคลากรและประชาสัมพันธ์” นายประพนธ์กล่าว
ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2560 กรอ.ได้รับงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานนำร่องวงเงิน 10 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2561 กรอ.เองก็กำลังยื่นของบสนับสนุนจากกองทุนฯ เพื่อต่อยอดการดำเนินงานอีก 100 ล้านบาท เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่วิศวกรที่จะมีส่วนสำคัญต่อการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูง เช่น การดูแลระบบหม้อน้ำ พร้อมกันนี้ กรอ.ยังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางจัดทำกฎหมายพลังงานโรงงานที่ว่าด้วยการกำหนดเกณฑ์การมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือ Factory Energy Code (FEC) ซึ่งจะเหมือนกับเกณฑ์การมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของอาคาร (Building energy Code หรือ BEC)
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า โรงงานอุตสาหกรรมที่ กรอ.กำกับอยู่ปัจจุบันมีราว 8 หมื่นแห่งปีนี้มีโครงการที่เน้นโรงงานใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ คาดหวังว่าจะมีโรงงานมาร่วมโครงการนำร่องมากกว่า 100 แห่ง โดยแนวทางหลักๆ ที่จะดำเนินการ คือ การส่งเสริมให้โรงงานปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และเครื่องจักร โดยเฉพาะระบบไอน้ำเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า และอีกส่วนเป็นการลดภาวะมลพิษ
“โรงงานนำร่องเบื้องต้นจะมุ่งเน้นโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานจำนวนมาก เมื่อเข้ามาก็จะคัดเลือกซึ่งกลุ่มหลักๆ จะเน้นหม้อไอน้ำซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น เหล็ก” นายมงคลกล่าว