xs
xsm
sm
md
lg

“ส.อ.ท.” ชี้รัฐเร่งเก็บค่าสำรองไฟฟ้าเท่ากับปิดกั้นลงทุนโซลาร์รูฟฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ส.อ.ท.” ค้านรัฐเก็บค่าสำรองไฟฟ้า หรือ Backup Rate และค่าบริการสายส่งและจำหน่ายยิ่งเร็วยิ่งปิดกั้นการลงทุนผลิตไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป กางผลงานวิจัยของ TDRI ตอกย้ำว่าโซลาร์รูฟท็อปฯ จะกระทบไฟในระบบอีก 3-5 ปีข้างหน้า

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในงานเสวนาเรื่อง “โซลาร์รูฟท็อป จะพลิกโฉมระบบไฟฟ้าอย่างไร” จัดโดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่า การที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)มีนโยบายที่จะเก็บอัตราระบบสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) กับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองขนาดใหญ่ รวมไปถึงการเก็บอัตราค่าบริการสายส่งและจำหน่าย (วิลลิ่งชาร์จ) กับผู้ผลิตไฟเอกชนรายเล็ก (SPP) ที่ผลิตจำหน่ายให้กับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อลดการลงทุนสายส่งที่ซ้ำซ้อนนั้น หากรัฐดำเนินการในเร็วๆ นี้เชื่อว่าจะทำให้การลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ไม่เกิดขึ้น โดยเห็นว่าหากจะจัดเก็บควรจะต้องศึกษารูปแบบที่เหมาะสมและดำเนินการในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

“ถ้ารัฐเก็บทั้งสองอย่างแล้วฉุดผลตอบแทนการลงทุน (IRR) จาก 7-8% เหลือ 3% ผมถามว่าจะมีคนทำไหมเท่ากับเป็นการบล็อกการลงทุน ซึ่งจากที่คุยกับรัฐเก็บได้ครับแต่ต้องไม่เป็นภาระของผู้ลงทุนเกินไปเพราะในบิลค่าไฟมีดีมานด์ชาร์จ และอื่นๆ ดูแลผลกระทบแล้วส่วนหนึ่ง ส่วนที่ห่วงไฟไหลย้อนเข้าระบบทำให้ระบบไม่เสถียรรัฐเกร็งไปเลยจะออกระเบียบเหล่านี้มา ซึ่งผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุชัดว่าโซลาร์รูฟท็อปจะเข้ามามากในอีก 5-10 ปีข้างหน้าดังนั้นเร็วสุดผมให้ 3-5 ปีข้างหน้า ดังนั้นการที่รัฐจะมาเก็บเร็วๆ นี้จึงยังไม่ใช่เวลา” นายสุวิทย์กล่าว

นายบุญรอด สุจจกุลนุกิจ นักวิชาการพลังงานอิสระ กล่าวว่า รัฐควรจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่อยู่ในระบบจำหน่ายและนอกระบบให้ชัดเพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดการวางแผนที่ผิด ซึ่งจะเห็นว่าในปีนี้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) เคยเกิดช่วงบ่าย 2 แต่ก็กลับไปเกิดกลางคืน เป็นต้น ซึ่งเป็นไปได้ไหมที่มาจากไฟฟ้าจากโซลาร์ที่เกิดขึ้นกลางวัน การปรับปรุงข้อมูลจึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น