เอกชนลุ้น “กพช.” 15 พ.ค.นี้จะโยกโควตาโซลาร์ฟาร์มราชการ 300เมกะวัตต์มาเป็นโซลาร์รูฟท็อปเสรีที่เป็นการรับซื้อไฟเข้าระบบหรือไม่ สมาคมอุตฯ เซลแสงอาทิตย์ย้ำราคารับซื้อโซลาร์รูฟท็อปเสรีควรจะให้เหมาะสม พร้อมจี้รัฐอาจถึงเวลาปกป้องผู้ผลิตแผงโซลาร์ในประเทศไทยบ้างหลังสหรัฐฯ เริ่มเตรียมใช้มาตรการเซฟการ์ด
นายดุสิต เครืองาม นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย(TPVA) เปิดเผยว่า สมาคมฯ กำลังติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่จะมีขึ้นวันที่ 15 พ.ค.นี้ เกี่ยวกับมติการรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยงานราชการที่เหลือ 300 เมกะวัตต์ว่าจะนำไปปรับใช้กับโครงการอื่นหรือนำไปจัดสรรใหม่ อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ เห็นด้วยหากจะนำโควตาดังกล่าวไปปรับเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัยแบบเสรี (โซลาร์รูฟท็อปเสรี) แบบรับซื้อไฟฟ้าคืนเข้าระบบได้
“ถ้าจะโยกนำไปทำโซลาร์รูฟท็อปเสรีด้วยการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีแต่กติกา เงื่อนไขก็ต้องกำหนดให้ชัดเจน โดยเฉพาะระเบียบปัจจุบันยังกำหนดไม่ให้ไฟฟ้าไหลย้อนกลับเข้าระบบได้” นายดุสิตกล่าว
นอกจากนี้ ต้องกำหนดราคารับซื้อที่ชัดเจนเนื่องจากจะมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจติดตั้งของประชาชน โดยเห็นว่าหากกำหนดรับซื้อเท่ากับอัตราราคาค่าไฟขายส่งหรือประมาณ 2.50 บาทต่อหน่วยนั้นก็น่าจะเอาเปรียบผู้บริโภคเกินไป เพราะผู้ที่ติดตั้งเป็นลูกค้าของการไฟฟ้าที่รับซื้อไฟในราคาขายปลีกเมื่อผลิตไฟใช้เองแล้วเหลือขายก็น่าจะให้เท่ากับที่อัตรารับซื้อในราคาขายปลีกที่ 4-5 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐจะตัดสินใจ แต่ที่สุดเห็นว่าจำเป็นต้องรับซื้อเข้าระบบในอัตราที่เหมาะสม
นายดุสิตกล่าวว่า ขณะนี้ต้นทุนการผลิตแผงโซลาร์ฯ มีทิศทางถูกลงต่อเนื่อง และไทยเองมีผู้ประกอบการผลิตแผงโซลาร์จำนวนมากในประเทศ แต่ขณะนี้มีสินค้าจากจีนเข้ามาดัมป์ตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดเริ่มมีการสอบถามเข้ามาจากสมาชิกจำนวนมากขึ้นว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ไทยจะดูแลผู้ประกอบการผลิตแผงโซลาร์ฯ ในประเทศเช่นประเทศอื่นบ้าง ซึ่งจะเห็นว่าล่าสุดสหรัฐอเมริกายังเตรียมพิจารณาใช้มาตรการเซฟการ์ดกับสินค้าโซลาร์เซลล์ที่นำเข้าจากทั่วโลก หลังอุตสาหกรรมภายในร้องเรียนได้รับผลกระทบหนักจากการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากต่างประเทศเข้ามา
นายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คงขึ้นอยู่กับ กพช.ว่าจะตัดสินใจอย่างไรในกรณีโควตาโซลาร์ฟาร์มราชการส่วนที่เหลือ 300 เมกะวัตต์ โดยส่วนตัวหากจะโยกไปเป็นโซลาร์รูฟท็อปเสรีก็ไม่มีปัญหาหรือจะโยกไปเป็นกองกลางแล้วอยู่ในส่วนของพลังงานทดแทนภาพรวมก็ได้ เพราะที่สุดสิ่งเหล่านี้จะมีผลให้เกิดการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจะเห็นชัดเจนในการลงทุนครึ่งปีหลังปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2561 ซึ่งพลังงานทดแทนนับเป็นอีกกิจการหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศและยังเป็นการสร้างการเรียนรู้เพื่อพัฒนานวัตกรรมของไทยเอง