“กกพ.” ถอยภายใน 1-2 ปีนี้ยังไม่มีนโยบายเก็บค่าสำรองไฟฟ้าหรือ Backup Rate พลังงานทดแทนโดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป แต่ต้องเตรียมแผนรองรับ จ่อทบทวนโครงสร้างค่าไฟรับมือโซลาร์รูฟท็อป และการทบทวนพีดีพีใหม่ให้สอดรับกับพีกที่เปลี่ยนไปในช่วงกลางคืน
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยในงานสัมมนา “Backup Rate กับ Solar Cell ข้อเท็จจริงที่ควรรู้” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจว่า นโยบายการเก็บอัตราค่าสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) เพื่อลดผลกระทบจากการเข้ามาของกลุ่มผู้ผลิตไฟใช้เอง (IPS) มากขึ้นนั้น ภายใน 1-2 ปีนี้ กกพ.ยังไม่มีนโยบายจัดเก็บ Backup Rate จากพลังงานทดแทนทุกชนิด โดยเฉพาะผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) อย่างไรก็ตาม ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงโซลาร์รูฟท็อปอนาคตจะทำให้มีการติดตั้งใช้เองมากขึ้น ดังนั้นหน่วยงานกำกับและการไฟฟ้าต้องปรับตัวรองรับ การทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP2015) ต้องคำนึงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น และต้องทบทวนโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่ (ปี 2561-65) ต้องสอดรับกับข้อเท็จจริงซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในปี 2561
“โซลาร์ลาร์รูฟท็อปขณะนี้มีเพียง 200 เมกะวัตต์ คิดเป็น 0.5% ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ ยังไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญของการเตรียมไฟฟ้าสำรองของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่ก็ศึกษาในส่วนของแผนรองรับไว้เพราะกรณีศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เองชี้ให้เห็นว่าหากโซลาร์รูฟท็อปเข้ามาในระบบ 10% ของความต้องการใช้ในประเทศจึงจะเริ่มมีผลกระทบรายได้ของการไฟฟ้า ขณะเดียวกัน โซลาร์ก็มีข้อดี สะอาด ลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ทำให้ไม่ต้องเดินโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนแพง” นายวีระพลกล่าว
ทั้งนี้ ในอนาคตจำเป็นต้องปรับตัวรองรับ โดยโครงสร้างค่าไฟฐานที่กำลังจะทบทวนใหม่จะต้องดูรายละเอียดของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) จากขณะนี้โซลาร์เซลล์ที่เข้าระบบรวมเกือบ 3,000 เมกะวัตต์ไปตัดพีกช่วงกลางวันทำให้พีกไปเกิดช่วงกลางคืนแทน ซึ่งก็จะทำให้ค่าไฟตามอัตราของช่วงเวลาของการใช้ หรือ TOU ก็ต้องปรับให้สะท้อนปัจจัยดังกล่าวมากขึ้น ดังนั้นต่อไปคนที่ใช้ไฟช่วงกลางคืนอาจต้องจ่ายแพงขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ส่วนของการวางแผน PDP 2015 ใหม่ก็จะต้องคำนึงถึงพลังงานทดแทนในอนาคตว่าจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด รวมถึงโอกาสที่จะมีระบบกักเก็บพลังงานในอนาคตเพื่อไม่ให้การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าหลัก ระบบสายส่งต่างๆ เกินความจำเป็น (Over Investment) ซึ่งที่สุดจะสะท้อนมายังค่าไฟฟ้า
ปัจจุบัน Backup Rate มีการจัดเก็บอยู่แล้วใน 2 กลุ่ม คือ 1. ผู้ผลิตไฟเองใช้เอง 100% ซึ่งจะเน้นใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้เกิดความมั่นคงในระบบจึงต้องซื้อไฟจากการไฟฟ้าเข้ามาเสริมระบบกรณีมีการหยุดซ่อม โดยแบ่งอัตราเก็บอยู่ที่ 52-66 บาทต่อกิโลวัตต์ 2. SPP Cogeneration กลุ่มผู้ผลิตไฟรายเล็กที่จำหน่ายไอน้ำและความร้อนให้กับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมและจำหน่ายไฟให้กับการไฟฟ้าเก็บที่ 26-33 บาทต่อกิโลวัตต์ และกลุ่มใหม่ที่กำลังพิจารณาคาดว่าจะสรุปใน 1-2 เดือนนี้คือกลุ่มที่ผลิตไฟเองใช้เองที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลแต่ยังคงต้องรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าอยู่อีกส่วนหนึ่ง โดยคาดว่าจะเก็บในอัตราที่ใกล้เคียงกับกลุ่มแรก
นายอุริช อัชชโคสิต นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ในต่างประเทศเช่น รัฐแคลิฟอร์เนียจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาจากการเข้ามาของพลังงานทดแทนโดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อปในระบบเพิ่มขึ้นแล้วทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยที่ไม่ติดตั้งและผู้ที่อยู่ในคอนโดมิเนียมเสียเปรียบด้วยการเก็บค่าไฟขั้นต่ำ หรือ Minimum Bill ที่เพิ่มขึ้นเป็น 10 เหรียญต่อเดือน หรือในสเปนจะใช้วิธีเก็บค่าภาษีแดด หรือ Sun Tax ซึ่งกรณีไทยนั้นที่สุดก็จำเป็นต้องพิจารณาและศึกษาไว้รับมือตั้งแต่แรกๆ เช่นกัน