xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.เซ็นซื้อหุ้น 10% โรงผลิตแอลเอ็นจีปิโตรนาสไตรมาสนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปตท.เตรียมเซ็นสัญญาถือหุ้นโรงผลิตแอลเอ็นจีของปิโตรนาสไตรมาส 3 นี้ เผยการนำเข้าแอลเอ็นจีปีนี้พลาดเป้าจากเดิมตั้งไว้ 5 ล้านตัน เหลือ 3-4 ล้านตัน

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยความคืบหน้าการเจรจาเข้าไปร่วมถือหุ้นในโครงการก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ของบริษัท ปิโตรนาส ประเทศมาเลเซียว่า พีทีที โกลบอล แอลเอ็นจี ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ปตท. กับบริษัท ปตท.สผ.ศูนย์บริหารธุรกิจ จำกัด เตรียมลงนามสัญญาถือหุ้นในโรงผลิตแอลเอ็นจีจากก๊าซเป็นของเหลว (Liquefaction) สัดส่วนถือหุ้น 10% ในไตรมาส 3 นี้ รวมทั้งเจรจาที่จะเข้าไปถือหุ้นในแหล่งแอลเอ็นจีของปิโตรนาสด้วย

ขณะนี้ ปตท.เป็นผู้นำเข้าแอลเอ็นจีรายใหญ่ แม้ว่าปีนี้จะมีการนำเข้าแอลเอ็นจีพลาดเป้าจากเดิมที่คาดไว้ 5 ล้านตันเหลือเพียง 3-4 ล้านตัน เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์เอาไว้ แต่ ปตท.ก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องลงทุนโครงการแอลเอ็นจี เทอร์มินอล ระยะที่ 1 และระยะ 2 รวม 19 ล้านตัน

ทั้งนี้ แนวโน้มราคาแอลเอ็นจีในปีหน้าใกล้เคียงปีนี้ราว 6 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งช่วงนี้เป็นตลาดของผู้ซื้อเพราะปริมาณการผลิตก๊าซฯ เกินความต้องการใช้ ดังนั้น ปตท.จะอาศัยจังหวะเวลาดังกล่าวในการทำสัญญาซื้อแอลเอ็นจีระยะยาวเพิ่มเติมโดยมีเงื่อนไขสัญญาที่ดีที่สุด แต่ก็ไม่เร่งรีบ คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าตลาดแอลเอ็นจีจะเปลี่ยนไป เนื่องจากปริมาณการผลิตและความต้องการใช้ก๊าซฯ เข้าสู่ภาวะสมดุล

ปัจจุบัน ปตท.มีแอลเอ็นจี เทอร์มินอล แห่งที่ 1 ที่มาบตาพุด จ.ระยอง รองรับการนำเข้าแอลเอ็นจีจำนวน 10 ล้านตัน/ปี และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากรัฐบาลว่าจะให้ขยายคลังแห่งที่ 1 เพิ่มเป็น 11.5 ล้านตัน/ปี หรือ 15 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะมีการนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือน ก.ค. หรือ ส.ค.นี้ และแอลเอ็นจี เทอร์มินอล แห่งที่ 2 ที่หนองแฟบ จ.ระยอง ขนาด 7.5 ล้านตัน ซึ่งก็ได้มีการออกแบบเพื่อรองรับการขยายแอลเอ็นจี เทอร์นินอล แห่งที่ 2 ในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ บริษัท พีทีที โกลบอล แอลเอ็นจี เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อเดินหน้าตามแผนกลยุทธ์ห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มแอลเอ็นจี (LNG Value Chain) ตั้งแต่การร่วมลงทุน โรงผลิตก๊าซแอลเอ็นจีจากก๊าซเป็นของเหลว และธุรกิจเทรดดิ้งแอลเอ็นจีในอนาคต ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในการเข้าไปร่วมทุนในโครงการแอลเอ็นจี
กำลังโหลดความคิดเห็น