เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ยื่นหนังสือ กมธ.พลังงาน ขอร่วมชี้แจงร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม อัด 152 สนช.โหวตรับหลักการทำผิดกฎหมายอาญาหลายกระทง ทำให้รัฐได้ประโยชน์ลดลง ประชาชนแบกภาระเพิ่ม
วันนี้ (8 ก.ค.) ที่รัฐสภา เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ นำโดย พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี พร้อมคณะ ได้ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขออนุญาตเข้าพบและชี้แจงข้อเท็จจริงและเสนอแนวทางที่ควรจะเป็นประโยชน์ของคนในชาติต่อคณะกรรมาธิการ เนื่องจากที่ประชุม สนช.จำนวน 152 คนได้รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ทั้งที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งได้เรียกร้องให้ยับยั้งร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเห็นได้ชัดว่าเป็นการทำให้รัฐได้ประโยชน์ลดลงจาการบัญญัติเรื่องการแบ่งปันผลผลิตและจ้างผลิต เพราะระบบแบ่งปันผลผลิตทั่วโลกรัฐต้องได้แบ่งปันมากกว่าเอกชน แต่ในร่าง พ.ร.บ.กลับให้เอกชนได้ส่วนแบ่งมากกว่า คือ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ หากหักค่าใช้จ่ายในปีนี้ไม่หมดสามารถนำไปหักในปีต่อไปได้ อีกทั้งสัญญาจ้างผลผลิตทั่วโลกมีอายุประมาณ 7-8 ปี แต่ของไทยให้สัญญาถึง 30 ปี
โดยให้คณะกรรมาการปิโตรเลียมมีอำนาจในการให้สัมปทานหรือแบ่งปันผลผลิต หรือจ้างผลิตในแปลงไหนก็ได้ รวมทั้งมีการใช้ระบบอนญาโตตุลาการมาแก้ปัญหาข้อพิพาทอีกด้วย ทำให้ภาพรวมรายได้ทั้งหมดของประเทศลดลง และการรั่วไหลของปริมาณปิโตรเลียมทุกนาทีทุกเวลาเพราะไม่มีระบบตรวจวัดแบบเวลาจริง (real time) เหมือนของปิโตรนาส หรือในประเทศกลุ่มโอเปก และรวมถึงการสูญเสียความมั่งคงของรัฐในการให้พื้นที่ปิโตรเลียมโดยไม่จำกัดแหล่งสัมปทาน
การกระทำเหล่านี้เป็นการกระทำผิดสัญญาว่าด้วยสิทธิในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของสหประชาชาติ ในเรื่องอำนาจอธิปไตยของรัฐเหนือทรัพยากรธรรมชาติต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของประชาชนที่ได้รับประโยชน์และสร้างความมั่งคั่ง แต่กฎหมายนี้กับทำให้ประชาชนไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเหมาะสมจากแหล่งพลังงานที่มีอยู่ แต่กลับต้องแบกภาระรายจ่ายแพงกว่าประชาชนมากว่าต่างประเทศที่ซื้อพลังงานจากไทย เนื่องจากเป็นระบบผูกขาดทางอ้อม การกระทำของ สนช.152 คนและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่รักษาผลประโยชน์ชาติและทำให้ชาติสูญเสีย ขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 119, 128, 129, 152 และ 157