xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กโย่ง” สั่ง กฟผ.สอบถามชาวบ้าน ชี้ชะตาโรงไฟฟ้ากระบี่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อนันตพร” สั่ง กฟผ.สอบถามชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้ากระบี่อีกครั้งว่าต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่หรือไม่ หากไม่ต้องการก็ต้องหาพื้นที่ใหม่ในภาคใต้ รวมไปถึงการหาโรงไฟฟ้าก๊าซฯ แทน ขู่พวกที่คัดค้านต้องร่วมรับผิดชอบหากใต้ไฟฟ้าขาดใน 4-5 ปีข้างหน้า

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สอบถามชาวบ้านในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้ากระบี่อีกครั้งเพื่อหาข้อสรุปความต้องการของประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการมีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่หรือไม่ หากพบว่าประชาชนในพื้นที่ไม่มีความต้องการก็จะให้ กฟผ.หาพื้นที่ใหม่เพื่อรองรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป แต่หากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ภาคใต้ก็พร้อมจะมองหาการสร้างโรงไฟฟ้าประเภทอื่น รวมถึงโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติต่อไป

แม้ว่าปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศจะเกินความต้องการอยู่ 30% แต่พื้นที่ภาคใต้ยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นและปริมาณการผลิตไฟฟ้าไม่มาก ซึ่งใกล้จุดวิกฤตที่จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจะไม่เพียงพอต่อความต้องใช้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นในภาคใต้แทนที่จะต้องส่งไฟฟ้าจากภาคกลางมาช่วย

นอกจากนี้ การเลือกใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นก็จะช่วยทำให้สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในภาพรวมมีความสมดุลมากขึ้น จากปัจจุบันที่ประเทศพึ่งพิงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมากเกินไป

ส่วนผู้ที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ต้องมีความชัดเจนว่าคัดค้านเพราะอะไร และหาก 4-5 ปี ถ้าภาคใต้ไม่มีไฟฟ้าเพียงพอก็ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในกระบี่จะช่วยสร้างงานให้แก่คนในพื้นที่และมีเงินกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าอีกปีละ 120 ล้านบาท เป็นเวลา 30 ปีที่จะใช้ประโยชน์ในชุมชน

ส่วนเรื่องการประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกช และเอราวัณ ที่ล่าช้ากว่าแผนเนื่องจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและภาษีปิโตรเลียมมีการท้วงติงมานั้น ยอมรับว่าการเปิดประมูลไม่สามารถเปิดได้ทันภายในเดือนมีนาคม 2560 แต่จะพยายามเปิดประมูลให้ได้ภายในปี 2560 และทุกอย่างจะประมูลเสร็จสิ้นได้รายชื่อผู้ที่จะเข้ามาดำเนินการภายในปี 2561 แม้ล่าช้ากว่าแผนแต่ทางกระทรวงได้มีการหารือกับภาคเอกชนในการดูแลการผลิต หากเป็นรายเดิมกำลังการผลิตผลกระทบไม่มาก แต่หากได้รายใหม่กระทรวงจะดูแลในการดำเนินการเกิดผลกระทบต่อการผลิตน้อยที่สุด

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 8 ธ.ค.นี้ มีวาระพิจารณาสัญญาการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ระยะยาวจากปิโตรนาส จำนวน 1.2 ล้านตัน/ปี โดย ปตท.เป็นผู้ทำสัญญาซื้อขาย LNG ดังกล่าว เบื้องต้นคาดว่าจะมีราคาถูกกว่าการนำเข้า LNG จากกลุ่มเชลล์ และบีพี ที่ได้อนุมัติสัญญาซื้อขายไปก่อนหน้านี้เพราะระยะทางขนส่งใกล้กว่า

ทั้งนี้ หาก ปตท.นำเข้า LNG จากกลุ่มปิโตรนาสครั้งนี้จะทำให้มีสัญญานำเข้าระยะยาวรวมแล้ว 5.2 ล้านตัน/ปี ซึ่งมีปริมาณมากเพียงพอที่จะไม่ต้องทำสัญญานำเข้า LNG ระยะยาวไปได้ระยะหนึ่ง โดยปัจจุบัน ปตท.นำเข้า LNG ระยะยาวจากการ์ต้าปีละ 2 ล้านตัน และจะทำสัญญานำเข้าจากกลุ่มเชลล์ และบีพี รายละ 1 ล้านตัน

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ทาง กพช.ยังพิจารณาเปิดเสรีธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ด้วย เบื้องต้นยังไม่มีข้อสรุปของรูปแบบการเปิดเสรี รอให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ก่อน คาดว่าการเปิดเสรี LPG จะเริ่มดำเนินการในปีหน้า เพื่อให้ผู้ประกอบรายอื่นที่พร้อมนำเข้า LPG จะได้มีเวลาเตรียมตัว จากเดิมที่มีเพียง ปตท.เป็นผู้นำเข้าเพียงรายเดียวเท่านั้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันความต้องการใช้ LPG ในไทยอยู่ที่ 5 แสนตัน/เดือน ส่วนใหญ่มาจากโรงแยกก๊าซฯ 3.2 แสนตัน/เดือน และอีก 1.5 แสนตัน/เดือนมาจากการผลิตของโรงกลั่นน้ำมัน ส่วนที่เหลืออีกราว 2.5-3 หมื่นตัน/เดือนเป็นการนำเข้า

แต่ในช่วงปี 2563-64 คาดว่าการนำเข้า LPG จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากการผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ จะลดลงไปราว 20% หรือประมาณ 6 หมื่นตัน เป็นผลจากปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยที่จะลดลงหลังแหล่งเอราวัณ และบงกช ใกล้จะหมดอายุสัมปทานซึ่งจะทยอยลดสัดส่วนการผลิตก๊าซฯ ลงในช่วงใกล้หมดอายุสัมปทาน
กำลังโหลดความคิดเห็น