ปตท.พร้อมเดินหน้าแอลเอ็นจี เทอร์มินอล 1 ส่วนขยาย 1.5 ล้านตัน คาดแล้วเสร็จในปี 62 ใช้เงินลงทุน 1 พันล้านบาท ส่วนโครงการแอลเอ็นจี เทอร์มินอล 2 ขนาด 5-7.5 ล้านตันจะเริ่มทำรายงาน EHIA และออกแบบในกลางปีนี้ หลังเตรียมพื้นที่รองรับการนำเข้าแอลเอ็นจีได้ถึง 15 ล้านตัน เพื่อให้เสร็จทันปี 2565 รองรับความต้องใช้ก๊าซฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น
นายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (PTT) เปิดเผยตามที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบให้ ปตท.ดำเนินโครงการส่วนขยายคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี เทอร์มินอล 1) 1.5 ล้านตัน และโครงการแอลเอ็นจี เทอร์มินอล 2 ขนาด 5-7.5 ล้านตันว่า ทาง ปตท.ได้มีการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) สำหรับส่วนขยายแอลเอ็นจี เทอร์มินอล 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะดำเนินการได้ทันทีหลังจากได้รับอนุมัติจากภาครัฐ ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562
ส่วนโครงการแอลเอ็นจี เทอร์มินอล 2 อีก 5 ล้านตัน หรือ 7.5 ล้านตัน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2561 แล้วเสร็จในปี 2565 ทั้งนี้ปตท.ได้มีการเตรียมพร้อมเรื่องพื้นที่เพื่อรองรับโครงการแอลเอ็นจีเทอร์มินอล 2 ซึ่งจะตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง ใกล้พื้นที่ต้นทางท่อก๊าซฯ โดยพื้นที่ดังกล่าวสามารถรองรับการนำเข้าแอลเอ็นจีได้ถึง 15 ล้านตัน
“โครงการแอลเอ็นจี เทอร์มินอล 2 จะมีขนาด 5 ล้านตัน หรือ 7.5 ล้านตัน ขึ้นกับปัจจัยเรื่องการบริหารจัดการสัมปทานที่จะหมดอายุลงทั้งแหล่งเอราวันและบงกชว่าจะเป็นไปตามแผนที่รัฐกำหนดหรือไม่ สำหรับงบลงทุนของกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 5 ปี (ปี 2559-63) ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท จะต้องเพิ่มขึ้นจากการลงทุนโครงการแอลเอ็นจี เทอร์มินอล 1 ส่วน 1.5 ล้านตัน ใช้เงินลงทุน 1 พันล้านบาท ส่วนโครงการแอลเอ็นจี เทอร์มินอล 2 ขนาด 5 ล้านตัน ใช้เงินลงทุน 3.68 หมื่นล้านบาท หากตัดสินใจลงทุนขนาด 7.5 ล้านตัน จะใช้เงินลงทุน 3.88 หมื่นล้านบาท โดยงบลงทุนแอลเอ็นจี เทอร์มินอล 2 ได้รวมไว้ในงบ 5 ปีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีการรวมงบลงทุนสำหรับโครงการคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ (FSRU) ในพม่า และภาคใต้ของไทย เพราะต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐก่อนว่าจะให้ใครเป็นผู้ลงทุน”
นายนพดลกล่าวต่อไปว่า ในปีนี้คาดว่าความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศจะโตเล็กน้อยไม่ถึง 1% หรือใกล้เคียงปีก่อน 4,828 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เนื่องจากความต้องการใช้ไฟทรงตัว การใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ลดลง (NGV) แต่ก๊าซฯสำหรับอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แต่ปีหน้าคาดว่าความต้องการใช้ก๊าซฯ จะเพิ่มขึ้น 2-3% จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ส่วนการนำเข้าแอลเอ็นจีในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่นำเข้า 2.64 ล้านตัน โดยแนวโน้มพบว่าความต้องการใช้แอลเอ็นจีในไทยในปี 2579 จะสูงกว่า 22 ล้านตัน ดังนั้น ปตท.จะอาศัยจังหวะที่ราคาแอลเอ็นจีในตลาดลดลงเป็นเวลา 3-5 ปีนี้เจรจากับผู้ขายเพื่อทำสัญญาระยะยาว ทั้งเชลล์ และบีพี รายละ 1 ล้านตัน/ปี คาดว่าจะเซ็นสัญญาและรับก๊าซฯ ในปี 2560 รวมทั้งเจรจากับปิโตรนาสในการซื้อแอลเอ็นจี รวมทั้งขอเข้าไปถือหุ้นในแหล่งก๊าซแอลเอ็นจีด้วย