xs
xsm
sm
md
lg

โรงไฟฟ้าถ่านหินล่าช้า ชง ปตท.ลงทุนคลัง LNG แห่งใหม่รวมขยาย 3.9 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผลพวงจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ล่าช้าไปกว่าแผนที่วางไว้ “กบง.” หวั่นก๊าซฯ ไม่เพียงพอความต้องการ อนุมัติ ปตท.ลงทุนเพิ่มศักยภาพนำเข้า LNG ทั้งส่วนขยาย 1.5 ล้านตัน/ปี ลงทุน 1,000 ล้านบาท และคลัง LNG แห่งใหม่อีก 5-7.5 ล้านตัน/ปี ลงทุนอีก 3.8 หมื่นล้านบาท จ่อชง กพช.ภายในกลางเดือน พ.ค.นี้

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า จากกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP2015) ล่าช้าออกไปจึงทำให้ความต้องการก๊าซฯ ท้ายแผนปี 2579 จากเดิมอยู่ที่ 4,344 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 5,653 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน ดังนั้น คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี รมว.พลังงานเป็นประธานจึงอนุมัติให้ บมจ.ปตท.ดำเนินโครงสร้างพื้นฐานก๊าซฯ เพื่อความมั่นคง 2 โครงการเพื่อนำเสนอเข้าสู่การอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเดือนกลางเดือน พ.ค.นี้

สำหรับโครงการประกอบด้วย (1. โครงการส่วนขยายคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อรองรับการนำเข้า LNG อีก 1.5 ล้านตันต่อปี จากเดิม 10 ล้านตันต่อปี รวมเป็น 11.5 ล้านตันต่อปีใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 2562 (2. โครงการคลัง LNG (LNG Receiving Terminal ) แห่งที่ 2 ซึ่งจะตั้งอยู่ในจ.ระยองแต่ไม่ใช่พื้นที่เดิมโดยจะมีความสามารถในการรองรับการนำเข้า LNG ประมาณ 5-7.5 ล้านตันต่อปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 3.68-3.8 หมื่นล้านบาท แล้วเสร็จปี 2565

“ขนาดของคลังแห่งใหม่จะเป็น 5 หรือ 7.5 ล้านตันจะต้องติดตามปริมาณการบริหารแหล่งก๊าซ 2 แหล่งใหญ่ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-2566 ว่าจะมีปริมาณการผลิตก๊าซฯ คงเดิมหรือไม่ ถ้าลดลงก็ต้องนำเข้าเพิ่มเป็น 7.5 ล้านตันต่อปี อย่างไรก็ตาม เดิมคลังแห่งใหม่มีแนวคิดที่จะเปิดให้มีผู้ลงทุนรายใหม่ที่ไม่ใช่ ปตท.แต่เนื่องจากก่อสร้างใช้เวลา 6-7 ปีจึงจะไม่ทัน เพราะการเปิดประมูล (บิดดิ้ง) ต้องใช้เวลามากเพราะคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องไปออกหลักเกณฑ์ต่างๆ อีก” นายประเสริฐกล่าว

ส่วนโครงการที่เหลือ 4 โครงการที่เกี่ยวข้องกับ LNG นั้น กบง.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาความชัดเจนก่อนเสนอกลับมายัง กบง.อีกครั้ง ได้แก่ คลัง LNG ลอยน้ำ (FSRU) พื้นที่อ่าวไทยตอนบน ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สนใจนำเข้ามาป้อนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการที่จะต้องเปิดประมูล (บิดดิ้ง) 3 โครงการ ได้แก่ โครงการ FSRU พื้นที่ภาคใต้ โครงการคลัง LNG แห่งที่ 3 และแห่งที่ 4 หรือ FSRU ที่ประเทศพม่า
กำลังโหลดความคิดเห็น