“กบง.” เคาะตรึงราคาแอลพีจีเดือน เม.ย. 59 คงเดิมที่ 20.29 บาทต่อ กก. ดึงเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนบัญชีแอลพีจีชดเชยราคา 0.3459 บาทต่อ กก. มีผลตั้งแต่ 6 เม.ย. เผยไม่ขยับขึ้นเพราะคาดการณ์ว่าแนวโน้มราคาแอลพีจีตลาดโลกเดือนหน้ามีทิศทางลดลง
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี รมว.พลังงานเป็นประธานเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ว่า กบง.ได้มีมติเห็นชอบให้คงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เดือน เม.ย. 59 คงเดิมที่ 20.29 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) โดยนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยราคาเพิ่มขึ้นอีก 0.3459 บาทต่อ กก.โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.เป็นต้นไป
“หากพิจารณาต้นทุนแล้วราคาแอลพีจีขายปลีกจะต้องปรับขึ้น 0.3459 บาทต่อ กก. แต่เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่าแนวโน้มราคาแอลพีจีตลาดโลกในเดือนหน้ามีทิศทางจะอ่อนตัวตามทิศทางราคาน้ำมัน จึงเห็นควรที่จะคงราคาเดิมไว้” นายทวารัฐกล่าว
สำหรับต้นทุนแอลพีจีตลาดโลก (CP) ปรับมาอยู่ที่ระดับ 332 เหรียญสหรัฐต่อตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 30 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะเดียวกัน อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.3664 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 35.4031 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่น ซึ่งเป็นต้นทุนเฉลี่ยของการจัดหาก๊าซแอลพีจี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3459 บาทต่อ กก. จาก 13.6826 บาทต่อ กก. เป็น 14.0285 บาทต่อ กก.
ผลจากการปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องชดเชยราคาแอลพีจีเป็น 0.7095 บาทต่อ กก. หรือมีรายจ่าย 263 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้ สำหรับฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 3 เมษายน 2559 อยู่ที่ประมาณ 44,507 ล้านบาท แบ่งเป็น ในส่วนของบัญชีแอลพีจี อยู่ที่ 7,213 ล้านบาท และในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 37,294 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกชดเชยส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติจากการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนอม ตั้งแต่วันที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) เป็นต้นไป เนื่องจากเดิมปี 2553 ปริมาณการใช้แอลพีจีในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การผลิตในประเทศไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีการนำเข้า แต่เนื่องจากราคาแอลพีจีตลาดโลกอยู่ในระดับสูงกว่า 680 เหรียญสหรัฐ/ตัน รัฐจึงได้มีนโยบายเพิ่มปริมาณการจัดหาแอลพีจีในประเทศ โดยหนึ่งในมาตรการ คือ การเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนอมเพื่อให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 4 (ขนอม) สามารถเดินเครื่องผลิตแอลพีจีได้เพิ่มขึ้น และให้กองทุนน้ำมันฯ รับภาระชดเชยส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าว เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนผลจากการดำเนินมาตรการฯ พบว่า สามารถประหยัดเงินชดเชยจากการนำเข้าแอลพีจี ได้ถึง 11,890 ล้านบาท
“อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 โรงไฟฟ้าทดแทนขนอม ชุดที่ 1 ที่สร้างขึ้นใหม่ในพื้นที่เดิม ขนาด 930 เมกะวัตต์ จะเริ่มทดสอบการทำงานทั้งระบบ ส่งผลให้สามารถเรียกปริมาณก๊าซธรรมชาติเพียงพอที่จะทำให้โรงแยกก๊าซขนอมสามารถเดินเครื่องผลิตแอลพจีได้เองก็ไม่จำเป็นต้องชดเชย” นายทวารัฐกล่าว