xs
xsm
sm
md
lg

กบง.เคาะตรึงราคาขายปลีกแอลพีจี มี.ค.-ยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กบง.” เคาะตรึงราคาขายปลีกแอลพีจีเดือน มี.ค.คงเดิมที่ 20.29 บาทต่อ กก. หลังต้นทุนเฉลี่ยแอลพีจีภาพรวมเปลี่ยนแปลงไม่มาก พร้อมไฟเขียวยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเตรียมเสนอ กพช.ต่อไป

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า กบง.ได้พิจารณาตรึงราคาขายปลีกแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) ประจำเดือน มี.ค. คงเดิมที่ 20.29 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยเปลี่ยนแปลงน้อยมาก โดยราคาแอลพีจีตลาดโลก (CP) อยู่ที่ระดับ 302 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5 เหรียญสหรัฐ/ตัน อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้น 0.5566 บาท/เหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 35.7695 บาท/เหรียญสหรัฐ ส่วนโรงกลั่นซึ่งมีต้นทุนต่ำที่สุดมีการผลิตแอลพีจีเพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนเฉลี่ยลดลง 0.0480 บาท/กก. จาก 13.7306 บาท/กก. เป็น 13.6826 บาท/กก.

“ที่ประชุมเห็นว่าต้นทุนเปลี่ยนแปลงไม่มากนักจึงให้คงขายปลีกราคาแอลพีจีไว้เช่นเดิมด้วยการปรับลดการชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ลงมาอยู่ที่ 0.3636 บาท/กก. จากเดิมชดเชย 0.4116 บาท/กก. ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2559 เป็นต้นไป ผลดังกล่าวทำให้กองทุนน้ำมันฯ ส่วนของแอลพีจียังคงมีรายจ่ายประมาณ 130 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 6 มีนาคม 2559 อยู่ที่ประมาณ 43,944 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีก๊าซแอลพีจีอยู่ที่ 7,174 ล้านบาท บัญชีน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 36,770 ล้านบาท” นายทวารัฐกล่าว

นอกจากนี้ กบง.ยังมีมติยกร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้น ซึ่งจะได้นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยร่าง กม.ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนน้ำมันฯ ดังนี้ 1) รักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพของประชาชน ในกรณีเกิดวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจ 2) สนับสนุนให้เชื้อเพลิงชีวภาพให้มีส่วนต่างราคาที่สามารถแข่งขันกับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 3) บรรเทาผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส

4) สนับสนุนการลงทุนการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ สำหรับป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อนำมาใช้ในกรณีวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิง และเพื่อประโยชน์ความมั่นคงทางด้านพลังงาน 5) สนับสนุนการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิงในกิจการของรัฐ สำหรับความมั่นคงทางด้านพลังงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น