xs
xsm
sm
md
lg

กว่า 1,000 ปั๊มทั่วใต้ป่วน! “ปตท.” บิดเบือนตลาดน้ำมันป้องตัวเลขกำไรหด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
โดย...ศูนย์ข่าวภาคใต้
 
 
ท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่ประเทศเจ้าของบ่อน้ำมันทั่วโลกต่างเร่งมือผลิต แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะดำดิ่งลงไปกองอยู่ก้นเหว แต่เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จึงเกิดการนำน้ำมันออกไปทุ่มตลาดกันอย่างไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ประเทศตนเองยังมีงบประมาณพอใช้จ่าย หรือถ้าจะได้รับผลกระทบก็ขอให้เป็นแบบน้อยที่สุด
 
ในสภาวะที่น้ำมันกำลังท่วมโลก แต่ประเทศไทยกลับเกิดสิ่งมหัศจรรย์แบบสวนกระแสชาวโลกอีกระลอก โดยเฉพาะในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ที่เวลานี้ทั้งปั๊มใหญ่ปั๊มเล็กจำนวนกว่า 1,000 แห่ง กลับมีน้ำมันไม่พอขายให้สอดรับต่อความต้องการใช้ประชาชน สร้างความเดือดร้อนกันไปถ้วนทั่ว
 
เรื่องราวอันเป็นมหัศจรรย์ไทยแลนด์ที่เกิดขึ้นเป็นข่าวใน “MGR Online ภาคใต้” มาตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยบริษัทผู้ค้าน้ำมันที่เป็นจ็อบเบอร์ออกมาให้ข้อมูลว่า คลังน้ำมันของ ปตท.ในภาคใต้ที่มีอยู่ 2 แห่ง คือ คลังน้ำมัน ปตท.ในพื้นที่ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี กระจายน้ำมันให้แก่พื้นที่ภาคใต้ตอนบน ไปจนถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ กับคลังน้ำมันในพื้นที่ อ.สิงหนคร จ.สงขลา กระจายน้ำมันให้แก่พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
 
โดยทั้ง 2 คลังน้ำมัน ปตท.ดังกล่าวปฏิเสธที่จะขายน้ำมันให้แก่จ็อบเบอร์ในราคาที่เป็นธรรม แต่กลับตั้งราคาขายสูงกว่าราคาหน้าปั๊มเสียอีก ส่งผลให้ปั๊มน้ำมันจำนวนมากมายทั่วภาคใต้ หรือประมาณกว่า 1,000 แห่ง น้ำมันไม่พอขายให้แก่ประชาชน
 
ผู้บริหารบริษัทจ็อบเบอร์แห่งหนึ่งที่เคยซื้อน้ำมันจากคลัง ปตท.ให้ข้อมูลว่า ปตท.เริ่มที่จะขายน้ำมันหน้าคลังในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริงประมาณ 1 บาทต่อลิตร ราววันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งราคาขายส่งถือว่าสูงกว่าราคาขายปลีกที่หน้าปั๊มทั่วไปประมาณ 50 สตางค์ ส่งผลให้บริษัทค้าน้ำมันรายใหญ่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเชลล์ เอสโซ่ และคาลเท็กซ์ ต้องเพิ่มราคาขายตามไปด้วย
 
เกี่ยวกับเรื่องนี้ในวงการผู้ค้าน้ำมันต่างทราบกันดีว่า การที่ ปตท.บิดเบือนกลไกตลาดน้ำมันเป็นผลจากที่ต้องซื้อน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้าราคาแพง ซึ่งนำมากลั่นแล้วส่งขายให้จ็อบเบอร์ในเวลานี้มีตัวเลขที่ขาดทุน เลยใช้วิธีดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้นเพื่อให้ขาดทุนกำไรให้น้อยที่สุด โดยไม่สนใจว่าราคาตามกลไกตลาดจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งความจริงแล้วในเวลาปกติ ปตท.ก็เป็นผู้นำทางการตลาดอยู่แล้ว
 
“การกระทำของ ปตท.ช่างขัดแย้งต่อหลักธรรมาภิบาลอย่างยิ่ง ปตท.ไม่ควรจะทำเช่นนี้เพราะเป็นบริษัทที่โฆษณามาตลอดว่าเคยได้รับรางวัลธรรมาภิบาล แต่ละปี ปตท.มีกำไรหลายแสนล้านบาท การจะขาดทุนกำไรสักนิดหน่อยไม่ได้เลยหรือ ถึงขั้นต้องบิดเบือนราคาตลาดเลยหรือ แต่ลึกๆ แล้วสังคมไทยอาจจะไม่แปลกใจในเรื่องนี้ก็เป็นได้” ผู้บริหารบริษัทจ็อบเบอร์ในภาคใต้กล่าวก่อนเสริมว่า
 
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกับว่า ปตท.ไม่ต้องการให้เห็นตัวเลขในทางบัญชีว่ามีกำไรที่หดหายไป เพราะแม้จะมีน้ำมันในคลัง แต่ก็ตั้งราคาไว้ถือว่าสูงแบบไม่ต้องการจะขาย เพื่อให้มีตัวเลขว่ากำไรลดลงไปปรากฏทางบัญชีน้อยที่สุด โดยเลือกแต่จะขายให้เฉพาะปั๊มที่มีโลโก้แบรนด์ของตัวเอง ส่วนปั๊มอิสระอื่นๆ แม้เวลาปกติ ปตท.ก็จะทำการค้าหากำไรด้วย แต่เวลานี้กลับเลือกที่จะไม่สนใจว่าปั๊มอิสระจะได้รับความเดือดร้อนกันอย่างไร เพียงแต่บอกว่าหากต้องการซื้อน้ำมันในราคาที่ตั้งไว้ได้ ปตท.ก็มีน้ำมันที่จะส่งให้ได้แบบเท่าไหร่เท่ากัน
 
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวจากแวดวงธุรกิจค้าน้ำมันในภาคใต้ยืนยันว่า ขณะที่ ปทต.ขายในน้ำมันในราคาสูงให้จ็อบเบอร์ แต่สำหรับบริษัท เกรท ทาเล้นท์ ซึ่งเป็นผู้ค้าส่งน้ำมันให้แก่ภาคอุตสาหกรรมที่ซื้อจาก ปทต.แห่งเดียวกลับได้รับการจัดสรรน้ำมันให้ในราคาที่ถูกลงราว 20 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งสร้างความฉงนสนเท่ห์ให้แก่วงการว่า เป็นการฮั้วกันเพื่อแสวงหากำไรอีกทางหรือไม่
 

 
สิ่งเหล่านี้ยืนยันได้จากเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา คลังน้ำมัน ปตท.ทั้งที่ จ.สงขลา และที่ จ.สุราษฎร์ธานี ได้เปิดราคาขายส่งน้ำมันดีเซล (โซลาร์) ไว้ที่ลิตรละ 20.28 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 23.01 บาท แก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 23.46 บาท และเบนซินไร้สารตะกั่วลิตรละ 29.57 บาท เมื่อนำไปเทียบกับราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มทั่วภาคใต้นับว่ายังสูงกว่า อย่างราคาน้ำมันดีเซลหน้าปั๊มใน จ.สงขลา อยู่ที่ลิตรละ 20.05 บาท เป็นต้น
 
นายอาหมัด จะปากิยา เจ้าของปั๊มน้ำมันใน จ.ปัตตานี กล่าวว่า ตนอยากรู้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทราบเรื่องนี้แล้วหรือไม่ ในขณะที่น้ำมันราคาถูก และล้นตลาดโลก แต่น้ำมันในไทย โดยเฉพาะในภาคใต้กลับขาดแคลนถึงขนาดไม่มีขาย หรือต้องปันส่วนกันเลย เรื่องนี้กลายเป็นความเดือดร้อนของประชาชนไปแล้ว เพราะคนใต้มักเติมน้ำมันจากปั๊มอิสระ มากกว่าปั๊มที่มีโลโก้ ปตท. และยี่ห้ออื่นๆ ของต่างชาติ
 
“จึงอยากร้องเรียนให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ตรวจสอบ ปตท.และบริษัทน้ำมันต่างชาติว่า สาเหตุของการขาดแคลนน้ำมันเกิดจากอะไร เพราะทุกคนสงสัยว่าในขณะที่น้ำมันราคาลดลง และมีปริมาณมากจนล้นโลก แต่ทำไมภาคใต้เราจึงไม่มีน้ำมันใช้” 
 
นายโอภาส หมั่นเจริญ เจ้าของปั๊มใน จ.สงขลา กล่าวว่า คลังน้ำมันทั้ง 2 แห่งใน อ.สิงหนคร มักมีปัญหากับผู้ค้า และผู้ขนส่งน้ำมันมาโดยตลอด ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน โดยเฉพาะคลัง ปตท.จะเอาเปรียบลูกค้า เช่น การกำหนดเวลาเปลี่ยนราคาที่ไม่คงที่ บางวันเปลี่ยนราคาใหม่ที่ 10.00 น. บางวันเปลี่ยนราคาที่ 11.00 น. โดยเฉพาะหากราคาปรับขึ้นก็จะเปลี่ยนราคาเร็วกว่าปกติ ทำให้ลูกค้าเติมน้ำมันไม่ทัน ต้องจ่ายเงินในราคาที่สูงกว่าราคาที่ซื้อ
 
นายนอบ พงษ์วัฒนา เจ้าของปั๊มอิสระในภาคใต้ กล่าวว่า มีปั๊มอิสระเป็นจำนวนมากที่ซื้อน้ำมันของ ปตท.มาขายโดยผ่านจ็อบเบอร์ มีปั๊มอิสระเป็นจำนวนมากที่ขายน้ำมันให้ ปตท.แม้จะไม่ใช่ลูกค้าโดยตรง ซึ่ง ปตท.ควรจะเห็นใจ ไม่ใช่เวลาที่ทำกำไรได้ ปตท.ก็ฟันกำไรจากลูกค้าปั๊มอิสระผ่านทางจ็อบเบอร์ แต่เมื่อมีปัญหาจากการที่น้ำมันดิบลดลงอย่างต่อเนื่อง ปตท.กลับไม่ยอมขาดทุนกำไรแม้เพียงเล็กน้อย
 
“หาก ปทต.ทำอย่างนี้จริงถือว่าเป็นองค์กรที่ทำธุรกิจโดยไม่มีธรรมาภิบาลเลย  ในขณะเดียวกัน รัฐบาลเองก็ต้องดูแลแก้ปัญหานี้ ไม่ใช่ปล่อยให้ ปตท.ดำเนินการตามอำเภอใจ”
 
สำหรับน้ำมันที่กระจายอยู่ในปั๊มทั่วภาคใต้มีเส้นทางการขนส่งทางเรือมาจากโรงกลั่นที่ ปทต.ร่วมถือหุ้นอยู่ถึง 5 แห่ง โดยจะนำมาส่งยังคลังน้ำมันของ ปตท.เอง กับคลังน้ำมันร่วมของเซลล์ เอสโซ่ และคาลเท็กซ์ ซึ่งในภาคใต้ที่มีอยู่ 2 แห่ง คือ ที่ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี กับที่ อ.สิงหนคร จ.สงขลา จากนั้นก็กระจายผ่านจ็อบเบอร์ไปให้แก่ปั๊มที่เป็นแบรนด์ของ ปตท. เชลล์ เอสโซ่ และคาลเท็กซ์ รวมถึงปั๊มอิสระต่างๆ อีกทั้งมีการจัดสรรให้แก่ภาคอุตสาหกรรมด้วย
 

 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ปตท.ได้ส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงการจำหน่ายน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ไม่ขาดแคลนให้แก่ “MGR Online ภาคใต้” โดยระบุว่า ปตท.ขอยืนยันว่า คลังน้ำมันของ ปตท.ใน อ.สิงหนคร ยังคงจำหน่ายน้ำมันดีเซลให้แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่องในปริมาณเฉลี่ยปกติ โดยผู้บริโภคทั่วไปยังสามารถหาซื้อน้ำมันได้ตามปกติ ไม่มีการขาดแคลนแต่อย่างใด ในเดือน ม.ค.2559 คลังน้ำมัน ปตท.ใน จ.สงขลา ได้จำหน่ายน้ำมันปริมาณรวม 39.80 ล้านลิตร ซึ่งสูงขึ้นกว่า 21% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น
 
นอกจากนี้แล้ว ในหนังสือชี้แจงของ ปตท.ยังเพิ่มเติมด้วยว่า ปัจจุบันบริษัท เกรท ทาเล้นท์ จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ค้าขายส่งอุตสาหกรรมของ ปตท.ที่ซื้อน้ำมันจาก ปตท.แห่งเดียว โดยอิงราคาประกาศหน้าสถานีบริการขายปลีก ปตท. ณ จังหวัดนั้น ซึ่งมียอดซื้อเฉลี่ยตามปกติที่เคยจำหน่ายตามข้อตกลงที่มีมาตั้งแต่แรก เพื่อจัดส่งให้แก่ลูกค้าผู้บริโภครับเหมาก่อสร้าง กลุ่มสร้างทาง และผู้ค้าส่ง โดยในท้ายหนังสือฉบับดังกล่าวลงนามโดย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมันของ ปตท.ด้วย
 
อย่างไรก็ตาม การชี้แจงของ ปตท.กลับเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงการตั้งราคาขายส่งให้แก่จ็อบเบอร์ การตั้งราคาขายส่งที่สูงกว่าราคาขายปลีกหน้าปั๊ม โดยเฉพาะความไม่พยายามที่จะช่วยเหลือคู่ค้าที่เป็นปั๊มอิสระ ซึ่งต่างกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น