xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ลงทุนคลังLNGใหม่ รับมือก๊าซฯในอ่าวไทยลด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลพวงจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ล่าช้าไปกว่าแผนที่วางไว้"กบง."หวั่นก๊าซฯไม่เพียงพอความต้องการอนุมัติปตท. ลงทุนเพิ่มศักยภาพนำเข้า LNG ทั้งส่วนขยาย 1.5 ล้านตันและคลังLNGแห่งใหม่อีก 5-7.5 ล้านตัน เงินลงทุนอีก 3.8 หมื่นล้านบาท จ่อชงกพช.อนุมัติภายในกลางเดือนพ.ค.นี้ พร้อมเคาะตรึงราคาขายปลีกแอลพีจีพ.ค.คงเดิม

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า จากกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(PDP2015) ล่าช้าออกไปจึงทำให้ความต้องการก๊าซฯท้ายแผนปี2579จากเดิมอยู่ที่ 4,344 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 5,653ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ดังนั้นคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จึงอนุมัติให้บมจ.ปตท. ดำเนินโครงสร้างพื้นฐานก๊าซฯเพื่อความมั่นคง 2 โครงการเพื่อนำเสนอเข้าสู่การอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเดือนกลางเดือนพ.ค.นี้

สำหรับโครงการประกอบด้วย 1. โครงการส่วนขยายคลังก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่มาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อรองรับการนำเข้า LNG อีก 1.5 ล้านตันต่อปี จากเดิม 10 ล้านตันต่อปี รวมเป็น 11.5 ล้านตันต่อปีใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 2562 2. โครงการคลังLNG (LNG Receiving Terminal ) แห่งที่ 2 ซึ่งจะตั้งอยู่ในจ.ระยอง แต่ไม่ใช่พื้นที่เดิมโดยจะมีความสามารถในการรองรับการนำเข้าLNG ประมาณ 5-7.5 ล้านตันต่อปี ใช้เงินลงทุนประมาณ 3.68-3.8 หมื่นล้านบาทแล้วเสร็จปี 2565

" ขนาดของคลังแห่งใหม่จะเป็น 5 หรือ 7.5 ล้านตันจะต้องติดตามปริมาณการบริหารแหล่งก๊าซ 2 แหล่งใหญ่ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-66 ว่าจะมีปริมาณการผลิตก๊าซฯคงเดิมหรือไม่ ถ้าลดลงก็ต้องนำเข้าเพิ่มเป็น 7.5 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 3 เดือน อย่างไรก็ตามเดิมคลังแห่งใหม่มีแนวคิดที่จะเปิดให้มีผู้ลงทุนรายใหม่ที่ไม่ใช่ปตท.แต่เนื่องจากก่อสร้างใช้เวลา 6-7ปีจึงจะไม่ทัน เพราะการเปิดประมูล(บิดดิ้ง)ต้องใช้เวลามากเพราะคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ต้องไปออกหลักเกณฑ์ต่างๆ อีก"นายประเสริฐกล่าว

ส่วนโครงการที่เหลือ 4 โครงการที่เกี่ยวข้องกับLNG นั้นกบง.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาความชัดเจนก่อนเสนอกลับมายังกบง.อีกครั้ง ได้แก่ คลังLNGลอยน้ำ(FSRU)พื้นที่อ่าวไทยตอนบน ที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ที่สนใจนำเข้ามาป้อนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ , และโครงการที่จะต้องเปิดประมูล(บิดดิ้ง) 3 โครงการได้แก่โครงการ FSRU พื้นที่ภาคใต้ โครงการคลังLNGแห่งที่ 3 และแห่งที่ 4 หรือ FSRU ที่ประเทศเมียนมาร์

นายประเสิรฐกล่าวว่า กบง.ยังได้เห็นชอบตรึงราคาแอลพีจีขายปลีกเดือนพ.ค. 59 ไว้คงเดิมที่ 20.29 บาทต่อกิโลกรัม(กก.)มีผลตั้งแต่ 3 พ.ค.เป็นต้นไป แม้ว่าต้นทุนรวมทั้งหมดจะทำให้ราคาขายปลีกแอลพีจีจะต้องลดลง 0.1196 บาทต่อกก.ก็ตามเนื่องจากเห็นว่าเป็นการลดลงที่ไม่มากนักประกอบกับภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของบัญชีแอลพีจียังติดลบจึงนำเงินที่จะลดมาลดอัตราการชดเชยของกองทุนฯลง

ทั้งนี้ราคาแอลพีจีตลาดโลก(CP)อยู่ที่ 347 เหรียญสหรัฐต่อตันปรับขึ้น 15 เหรียญฯต่อตัน ขณะที่ราคาต้นทุนในประเทศได้แก่โรงแยกก๊าซฯ และปตท.สผ.แหล่งลานกระบือ ปรับตัวลดลงรวมประมาณ 16 เหรียญฯต่อตัน ราคาโรงกลั่นลดลง 0.1196 บาทต่อกก.ดังนั้นกบง.จึงปรับลดอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯลง 0.1196 บาทต่อกก.จากเดิมชดเชย 0.7095 บาทต่อกก.เป็นชดเชย 0.5899 บาทต่อกก.

"ผลจากการปรับลดอัตราเงินชดเชยดังกล่าวทำให้กองทุนน้ำมันฯในส่วนของแอลพีจีมีรายจ่ายอยู่ที่ 213 ล้านบาทต่อเดือนลดลง 43 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่ฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 1 พ.ค.อยู่ที่ประมาณ 44,815 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีแอลพีจี 7,623 ล้านบาทและน้ำมัน 37,193ล้านบาท"นายประเสริฐกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น