xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.โอดขายก๊าซภาคอุตฯ ขาดทุนยับ จี้ กกพ.ออกโครงสร้างราคาใหม่ชั่วคราว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปตท.หวั่นเอกชนเจ๊ง! จี้ กกพ.เร่งออกประกาศโครงสร้างราคาขายปลีกก๊าซฯ ภาคอุตสาหกรรมชั่วคราวแค่สิ้นไตรมาส 3 นี้ หลังปี 58 ขาดทุนหนัก 3 พันล้านบาท พร้อมกับเร่งเจรจาราคารับซื้อก๊าซฯ ส่วนเพิ่มจากแหล่งบงกชเหนือเพื่อรักษาระดับปริมาณก๊าซฯ ไว้เท่าเดิม

นายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างรอการอนุมัติการปรับโครงสร้างราคาค้าปลีกก๊าซธรรมชาติผ่านระบบจำหน่ายก๊าซธรรมชาติสำหรับอุตสาหกรรมเป็นการชั่วคราวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หลังจากประสบปัญหาการขาดทุนอย่างหนัก เนื่องจากในปี 2558 ถึงปัจจุบันราคาขายก๊าซฯ ให้ลูกค้าอุตสาหกรรมจะปรับตัวลดลงเร็วและแรงตามทิศทางราคาน้ำมัน ขณะที่ต้นทุนราคาก๊าซฯ จะอ้างอิงราคาซื้อก๊าซธรรมชาติในประเทศ (Pool Price) ทำให้มีราคาต้นทุนสูงกว่าราคาที่ขายก๊าซฯ ให้ภาคอุตสาหกรรม จึงขอให้ กกพ.เร่งช่วยเหลือเพื่อให้ธุรกิจพออยู่รอดได้เป็นการชั่วคราวถึงสิ้นไตรมาส 3/2559

ทั้งนี้ โครงสร้างราคาก๊าซฯ สำหรับลูกค้าอุตสาหกรรมถือเป็นเชื้อเพลิงทางเลือก โดยราคาจะอิงกับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) และน้ำมันเตา ซึ่งช่วงที่ราคาน้ำมันเตาและ LPGแพง ทาง ปตท.ก็ตั้งราคาขายก๊าซฯ ให้ภาคอุตสาหกรรมต่ำกว่าเชื้อเพลิงทางเลือกอื่นๆ ทำให้ลูกค้าประหยัดต้นทุน แต่ช่วงนี้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงแรงและมีความผันผวน ทำให้ปี 2558 ปตท.และบริษัทผู้ค้าก๊าซฯ สำหรับอุตสาหกรรมต่างประสบปัญหาขาดทุนถ้วนหน้า จึงได้ทำความเข้าใจกับลูกค้าเพื่อขอปรับสูตรราคาใหม่ โดยยอมรับว่ามีภาคอุตสาหกรรมบางส่วนไม่เห็นด้วย ขณะเดียวกันทาง กกพ.ขอให้ระงับการใช้ไปก่อนเพราะอยู่ระหว่างการพิจารณาโครงสร้างราคาก๊าซฯ เพื่ออุตสาหกรรมใหม่ที่จะบังคับใช้ถาวร

ดังนั้น ระหว่างนี้ทาง ปตท.และเอกชนอีก 2 ราย คือ บริษัท ปตท.จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ (PTTNGD) ซึ่ง ปตท.ถือหุ้นในสัดส่วน 58% และบริษัท อมตะ จัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด ซึ่ง PTT NGD ถือหุ้นในสัดส่วน 80% ต้องการให้ กกพ.ประกาศโครงสร้างราคาใหม่เป็นการชั่วคราวเพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาการขาดทุน
ส่งผลให้ราคาขายปลีกก๊าซฯ อุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 17-89 บาทต่อล้านบีทียู

ในปีที่ผ่านมา ปตท.มีผลขาดทุนจากการขายก๊าซธรรมชาติสำหรับลูกค้าอุตสาหกรรม 3 พันล้านบาท และล่าสุดขาดทุนเฉลี่ยเดือนละ 100 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีนี้จะขาดทุนลดลงไม่เกิน 2 พันล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันเริ่มทรงตัว และต้นทุนก๊าซฯ เริ่มปรับ ขณะเดียวกัน ปตท.ได้มีการปรับลดค่าใช้จ่ายต่างๆ และชะลอการลงทุนลง ซึ่งปัจจุบันปริมาณการใช้ก๊าซฯ สำหรับภาคอุตสาหกรรม 600-700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันคิดเป็นสัดส่วน 13% ของความต้องการใช้ก๊าซฯ ทั้งหมด โดย ปตท.ลูกค้าก๊าซฯ อุตสาหกรรม 400 รายที่สัญญาสิ้นสุดลงและรอการทำสัญญาใหม่ 

นายนพดลกล่าวต่อไปว่า ในปีนี้ความต้องการใช้ก๊าซฯ ในประเทศไทยโตขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบจากปีก่อนที่มีการใช้รวม 4,828 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และในปี 2560 คาดว่าความต้องการใช้ก๊าซฯ จะโตขึ้น 2-3% จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้น ขณะที่ปริมาณก๊าซฯ จะลดลงในช่วง 2-3 ปีนี้ อาทิ ปริมาณก๊าซฯ จากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียหรือเจดีเอใน B17 จะลดลง เพื่อให้ทางปิโตรนาส มาเลเซีย เป็นผู้รับก๊าซฯ เพิ่มมากขึ้น ส่วนปริมาณก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณและบงกชยังไม่มีสัญญาณที่จะลดการผลิตก๊าซฯ ลงแม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2565-66

นอกจากนี้ ปตท.ยังอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองราคารับซื้อก๊าซฯ ส่วนเพิ่มจากแหล่งบงกชเหนือของ ปตท.สผ. เพื่อรักษาปริมาณการผลิตก๊าซฯ ไว้ใกล้เคียงเดิมด้วย รวมทั้งเจรจากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เรื่องสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ที่จะสิ้นสุดลงในสิ้นปีนี้ หลังจากก่อนหน้านี้รัฐให้ กฟผ.ศึกษาโครงการเรือคลังก๊าซธรรมชาติเหลวแบบลอยน้ำ (FSRU) อ่าวไทยตอนบนเพื่อป้อนให้โรงไฟฟ้าพระนครใต้

สำหรับผลการดำเนินงานธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท.ในปีนี้คาดว่ามีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและภาษี (EBITDA) ใกล้เคียงปี 2558 เนื่องจากความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติโตขึ้นเล็กน้อย และการขาดทุนจากการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติสำหรับลูกค้าอุตสาหกรรมลดลงจากปีก่อนและมีการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลง
กำลังโหลดความคิดเห็น