สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก เคาะเกณฑ์อบรมจีน คาดเริ่มทดสอบชุดแรก 20-30 คน ปลายเดือน ก.ค.เพื่อเริ่มตอกเข็มรถไฟไทย-จีน ช่วง 3.5 กม.แรกตามเป้า
วันนี้ (29 มิ.ย.) สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก ได้ประชุมร่วมกับบริษัทผู้ออกแบบของจีนเพื่อหารือถึงแผนการอบรมและทดสอบวิศวกรและสถาปนิกจีน ในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 30/2560 เรื่องมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ที่ให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจัดการอบรมและทดสอบวิชาชีพตามความเหมาะสม โดยนายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร เปิดเผยว่า จีนรับหลักการในการจัดอบรมและทดสอบ รวมถึงการถ่ายโอนเทคโนโลยีความรู้ด้านรถไฟความเร็วสูงของจีนตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบ ควบคุมการก่อสร้าง การเดินรถและซ่อมบำรุงให้กับวิศวกรไทย โดยจะมีการหารือรายละเอียดร่วมกันในแต่ละประเด็นต่อไปเพื่อนำไปสู่การถ่ายโอนเทคโนโลยีที่เป็นรูปธรรม
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า ได้สรุปหลักการร่วมกัน 3 เรื่อง 1. การอบรมและทดสอบ วิศวกรจีนจะใช้เวลาอบรม 3 วัน (18 ชม.) วันแรกอบรมหัวข้อ พ.ร.บ.วิศวกรและภาพรวมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม, จรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ, พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร วันที่ 2 หัวข้อภาพรวมภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและกรณีศึกษาการวิบัติของอาคารและโครงสร้าง, แผ่นดินไหวและแรงลม, สภาพทางธรณีวิทยาและชั้นดิน, ภัยน้ำท่วมและการบริหารจัดการน้ำ วันที่ 3 หัวข้อความปลอดภัยในการทำงานและการจัดการความปลอดภัย, สิ่งแวดล้อมและมลพิษ โดยมีข้อสอบ 2 ชุด คือ กฎหมายและจรรยาบรรณ 50 ข้อ, สภาพท้องที่และเทคนิควิศวกรรม 100 ข้อ เกณฑ์ผ่านหัวข้อละ 60% จากนั้นจะทดสอบ 1 วัน (6 ชม.)
โดยจีนรับหลักเกณฑ์การอบรม ทดสอบ โดยขอให้ไทยอำนวยความสะดวกการอบรม เนื่องจากจะมีวิศวกรจีนประมาณ 300 คนเข้าอบรม โดยในวันที่ 4-8 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 19 ที่กรุงปักกิ่ง โดยในวันที่ 5 ก.ค.สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกของไทยจะประชุมร่วมกับจีนเพื่อสรุปรายละเอียดเนื้อหาการอบรมจากนั้นจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการจัดทำเอกสารและเริ่มอบรมและทดสอบวิศวกรจีนชุดแรกประมาณ 20-30 คน ได้ช่วงปลายเดือน ก.ค. เพื่อออกใบรับรองและนำไปสุ่การลงนามในสัญญาจ้างออกแบบ 2.1 และการก่อสร้างช่วง 3.5 กม.แรกได้ และคาดว่าจะอบรมและทดสอบวิศวกรจีนทั้งหมดสร็จภายใน 2-3 เดือน (90 วัน) แต่จะต้องขึ้นกับความพร้อมของจีนด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะอยู่ในกรอบคำสั่ง ม.44 ที่ให้เวลา 120 วันแน่นอน
“จีนไม่ติดใจเรื่องหลักเกณฑ์การอบรมและทดสอบ เพียงต้องการให้ไทยบริหารจัดการความสะดวก เพราะมีวิศวกรจีนบางส่วนอยู่ต่างประเทศ โดยเบื้องต้นจะจัดอบรมและทดสอบเป็น Class แบบเห็นหน้ากัน ยกเว้นกรณีมาร่วมไม่ได้ อาจจะมีเป็นรายบุคคลที่จะจัดแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยยืนยันว่าในการอบรมและทดสอบจะไม่ย่อหย่อนในมาตรฐานวิชาชีพของไทยแน่นอน”
ส่วนข้อเสนอจาก 2 สภา เรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยีนั้นจะมีการอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้วิศวกรไทยเพื่อให้สามารถเดินรถไฟความเร็วสูงได้, ขอให้จีนเพิ่มเติมการถ่ายโอนเทคโนโลยีตั้งแต่การออกแบบ ระบบไฟฟ้าเครื่องกล อาณัติสัญญาณ ซึ่งจีนยินดีให้วิศวกรไทยเข้าร่วมโดยจะหารือสัดส่วนอีกครั้ง ซึ่งไทยเสนอไว้ที่ไม่น้อยกว่า 50% โดยสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะคัดเลือกบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและมีทัศนคติที่ดีเข้าร่วม พร้อมทั้งเสนอให้ตั้งคณะกรรมการถ่ายโอนเทคโนโลยีและทำ MOU ร่วมกันต่อไป
นายประภากร วทายนกุล กรรมการสภาสถาปนิกไทย กล่าวว่า สถาปนิกจีนที่จะอบรมและทดสอบจะมีประมาณ 20 คน ซึ่งจะอบรม 2 วัน เกี่ยวกับ พ.ร.บ.สถาปนิก ขอบเขตการปฏิบัติวิชาชีพ สถาปัตยกรรมไทย และความเขื่อที่เหมาะสม สภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม ทดสอบ 1 วัน ข้อสอบ 100 ข้อ ผ่านเกณฑ์ที่ 60% เช่นกัน